CIMBTชี้บาทแข็งจ่อหลุด33 “ทรัมป์”ดันเงินไหลเข้าเก็งกำไรบอนด์สั้น

CIMBT คาดเงินบาทแข็งค่าแตะ 32.80 บาท/ดอลลาร์ ภายใน ส.ค.นี้ เผยเงินยังไหลเข้าเก็งกำไรบอนด์สั้นในไทย ชี้ปัจจัยกดดันทั้งปัญหานโยบายทรัมป์ และการส่งสัญญาณนโยบายการเงินของเฟด หอการค้าชี้ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค. ดิ่งสุดรอบ 7 เดือน

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือน ส.ค.นี้ โดยคาดการณ์เงินบาทจะเคลื่อนไหวจากปัจจุบันที่อยู่ 33.28 บาท/ดอลลาร์ ค่อย ๆ แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์ และอาจหลุดไปแตะระดับแข็งค่าสุดของปีนี้ที่ระดับ 32.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ก่อนถึงเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะจากความไม่แน่นอนของนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายภาษีและด้านประกันสุขภาพ Obama Care รวมไปถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการพิจารณาลดบัญชีงบดุลและปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้

ทั้งนี้ ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและอาจขายสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อไปลงทุนในประเทศที่มีความปลอดภัยแทน ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อาจอ่อนค่า แต่ทางกลับกัน ภายใต้ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน อาจทำให้เงินบาทแข็งค่าได้จากภาวะเงินไหลเข้ามาโดยเฉพาะเข้ามาเก็งกำไรในตลาดพันธบัตรระยะสั้นของไทย

นายอมรเทพประเมินว่า แนวโน้มค่าเงินน่าจะเกิดการแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น แต่หากมีความชัดเจนด้านนโยบายต่าง ๆ นักลงทุนก็พร้อมดึงเงินกลับ ไปลงทุนในสหรัฐตามเดิม ค่าเงินบาทอาจจะกลับมาอ่อนค่า ได้ในช่วงปลายปีนี้ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และภายใต้ความผันผวนดังกล่าวผู้ประกอบการจึงต้องมีการป้องกันความเสี่ยงเนื่องจากค่าเงินมีการเคลื่อนไหวในสองทิศทางได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันพบว่า ค่าเงินบาท และค่าเงินวอน ของประเทศเกาหลี แข็งค่าที่ 7.1% ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าสุดในภูมิภาคเอเชีย

สำหรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ นายอมรเทพกล่าวว่า ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของภาคส่งออกในปีนี้อยู่ที่ 4- 5% แต่ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจ (จีดีพี) โต 3.2% พร้อมทั้งประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจยังเติบโตได้ในขณะนี้ และเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับต่ำ แต่สิ่งที่ กนง.ต้องทำคือ รักษาเสถียรภาพในตลาดเงิน โดยเฉพาะการดูแล เกี่ยวกับปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นในระบบ โดยเฉพาะที่มาจากน็อนแบงก์

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.อยู่ที่ระดับ 73.9 ซึ่งลดลงจากระดับ 74.9 ในเดือน มิ.ย. ถือว่าลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคกังวลปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ในขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ยังทรงตัว นอกจากนี้ผลจากเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ฟื้นตัวเช่นกัน อีกทั้งผู้บริโภคกังวลการแก้ไขปัญหาแรงงาน หลังจากที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.การบริหารการจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 แต่ยังจัดการไม่แล้วเสร็จ ซึ่งอาจกระทบต่อตลาดแรงงานได้

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ก.ค.อยู่ที่ 62.2 ลดลงจาก 63.3 ในเดือน มิ.ย.และถือว่าลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน