ส่องวิกฤตการเงินตุรกี กระทบตลาดการเงินโลก

คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก

โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม บลจ.วรรณ

แม้ว่ากองทุนต่างประเทศของ บลจ.วรรณ ไม่ได้มีการลงทุนโดยตรงในตุรกี ไม่ว่าจะเป็นกองตราสารหนี้หรือกองตราสารทุน (หุ้น) แต่ผมได้รับคำถามเรื่องตุรกีจากลูกค้าหลายท่าน อีกทั้งก่อนหน้านี้ผมได้เขียนบทความในประชาชาติธุรกิจเมื่อ 6 ก.ค. 2551 เตือนปัญหาตุรกีไว้แล้ว จึงขอสรุปประเด็นที่ผมได้สื่อสารกับลูกค้าหลายท่านต่อประเด็นตุรกีในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้

ที่มาของวิกฤตการเงินในตุรกีเกิดจากการขาดดุลแฝด (twin deficit) ทั้งในส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลการคลังระดับสูง รวมทั้งปัญหาหนี้ต่างประเทศระดับสูงซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยตัวที่จุดชนวนให้ปัญหาดังกล่าวพัฒนาการเป็นวิกฤตการเงินเต็มรูปแบบมาจากแนวโน้มการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐต่อเนื่องตั้งแต่ปลายไตรมาสแรกปีนี้ กอปรกับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างตุรกีและสหรัฐ จากกรณีการจับกุมพลเมืองสหรัฐ ทำให้สหรัฐดำเนินการคว่ำบาตรและส่งผลให้นักลงทุนประเมินว่าการคว่ำบาตรจะยิ่งซ้ำเติมการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดตุรกีให้รุนแรงขึ้นไปอีก

ดังนั้น นักลงทุนต่างชาติที่มีสินทรัพย์ทางการเงินในตุรกีจึงเร่งเทขายและแลกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐออกไป ขณะที่นักเก็งกำไรค่าเงินผสมโรงขายเงินลีรา ทำให้นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนในตุรกีเร่งเทขายสินทรัพย์และเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐวนไปมาเป็นวงจร ผลคือค่าเงินลีราของตุรกีอ่อนค่าลงมาเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐประมาณ 60% ทำให้ขณะนี้ตุรกีกล่าวได้ว่าเข้าสู่วิกฤตการเงินเต็มรูปแบบ

Advertisment

แต่สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องพิจารณาต่อคือ “วิกฤตการเงินในตุรกี” จะแพร่ระบาดไปประเทศอื่น ๆ ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศอื่น ๆ ตามมาหรือไม่ (contagion effects) ในกรณีตุรกี ผมพบว่าความเสี่ยงประเด็น contagion ef-fects มีจำกัด ไม่ได้สูงมาก เพราะความเชื่อมโยงของตุรกีกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศในยุโรปไม่ได้สูงมาก หากแต่เชื่อมผ่านการกู้เงินของตุรกีในสถาบันการเงินของยุโรปโดยเฉพาะ 3 ประเทศหลัก ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ได้สูงเช่นกันประมาณ 2% ของสินเชื่อทางการเงินทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์ในยุโรป

นอกจากนี้ การประเมินของ Credit Suisse พบว่าเมื่อนำมูลค่าสินเชื่อของตุรกีทั้งหมดที่ปล่อยโดยธนาคารพาณิชย์ในฝรั่งเศส อิตาลี และสเปนไปเทียบกับระดับเงินกองทุนของสถาบันการเงินใน 3 ประเทศข้างต้น หนี้สินของตุรกีของธนาคาร 3 ประเทศมีระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับเงินกองทุนขั้นที่ 1 (common equity tier 1 : CET1) ของ 3 ประเทศ โดยผลกระทบจะอยู่ที่ 0.7%, 0.8% และ 2.7% ตามลำดับ ทำให้ในกรณีเลวร้ายที่สุด (worst case scenar-io) คือ หนี้สินที่ธนาคารพาณิชย์ 3 ประเทศหลักปล่อยให้ตุรกีเป็นหนี้สูญ ไม่ส่งผลให้สถาบันการเงินใน 3 ประเทศนี้ล้มลง และที่ผ่านมา ระบบการเงินในยุโรปได้ผ่านวิกฤตหนี้สาธารณะของประเทศกลุ่ม PIIGS (โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี สเปน และกรีซ) มาได้อย่างดี ทั้ง ๆ ที่เป็นวิกฤตที่ใหญ่โตมากกว่าวิกฤตการเงินตุรกีหลายเท่านัก และยุโรปได้มีกองทุนขนาดใหญ่ที่ชื่อ EFSF และ ESM ที่มีวงเงิน 7 แสนล้านยูโรที่ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อรับมือวิกฤตหนี้สินสาธารณะยุโรปเมื่อ 5-6 ปีก่อน และยังคงมีวงเงินเหลืออยู่จำนวนมากที่สามารถนำไปใช้เมื่อยุโรปมีวิกฤต ดังนั้นวิกฤตการเงินตุรกีล่าสุดจึงมีผลกระทบระดับจำกัดต่อปัจจัยพื้นฐานของหุ้นยุโรป

ผมประเมินว่าผลกระทบเรื่องตุรกียังคงกดดัน sentiment ของตลาดต่อไประดับหนึ่ง แต่ไม่ได้กระทบปัจจัยพื้นฐานมากนัก ในกรณีอาร์เจนตินาในปีนี้ การได้รับเงินช่วยเหลือ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อ มิ.ย.ที่ผ่านมามีส่วนช่วยหยุดความกังวลของนักลงทุนต่อวิกฤตการเงินในอาร์เจนตินา

แต่สำหรับตุรกี ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ต่ำมากที่ IMF จะช่วยเหลือตุรกี เพราะขณะนี้ตุรกีมีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศกับสหรัฐ จากการจับกุมตัวพลเมืองสหรัฐ ดังนั้น ถ้าตุรกีไม่ยอมปล่อยพลเมืองสหรัฐ เป็นการยากที่ IMF จะช่วยเหลือทางการเงิน ทำให้ที่สุดตุรกีอาจจะถูกกดดันให้ใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลออก (capital control) ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เรื่องวิกฤตการเงินในตุรกีจะเป็นประเด็นกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกระดับหนึ่ง แต่ไม่กระทบปัจจัยพื้นฐานมากนัก

Advertisment