ลงทุนวันนี้ ติดลมบนวันหน้า กล่อมต่างชาติมองเศรษฐกิจไทยบวก

นักลงทุนต่างชาติกว่า 160 ราย ที่บริหารสินทรัพย์รวมมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ต่างพาเหรดร่วมงาน “Thailand Focus 2018” ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29-30 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้ชูแนวคิด “The future is now. โอกาสการลงทุน…ไม่ต้องรออนาคต” โดยภาครัฐและแบงก์ชาติ สถาบันการเงินและบริษัทต่าง ๆ ขนข้อมูลต่าง ๆ มานำเสนอให้ต่างชาติฟังกันอย่างเต็มอิ่ม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในงานนี้ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยที่อยู่ 0.9% ช่วงที่รัฐบาลเข้ามาบริหารกว่า 3 ปี ก็ขยับขึ้นมาที่ระดับ 3.2-3.9% และครึ่งปีแรกนี้ก็อยู่ที่ 4.8% และปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 4.5% แน่นอน สะท้อนว่ามีเสถียรภาพ และที่สำคัญ ดัชนีทุกตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และช่วงหลังการโตของเศรษฐกิจยังมาจากการบริโภคและลงทุนของภาครัฐและเอกชนด้วย นอกเหนือจากภาคส่งออกและท่องเที่ยวทั้งหมดนี้โตภายใต้เงินเฟ้อเฉลี่ย 1% และยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเกิน 200 พันล้านดอลลาร์ ด้วยการดูแลที่เข้มแข็งของแบงก์ชาติ จึงกล้ากล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวโดยสมบูรณ์

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ – บัณฑูร ล่ำซำ

ในช่วงนี้ โอกาสที่จะทำให้ไทยไปสู่สิ่งที่ดีกว่า มี 2 ปัจจัย คือ 1.ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ จะเป็นโอกาสของไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน CLMVT (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของเอเชีย ซึ่ง CLMVT ก็กำลังเป็นดาวจรัสแสงที่มีเศรษฐกิจเติบโตก้าวกระโดดเฉลี่ย 6-8% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และยังมีประชากรรวมกันกว่า 200 ล้านคน ที่ยังเป็นแหล่งแรงงานสำคัญและเป็นซัพพลายเชนของภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย One Belt One Road ของจีนและญี่ปุ่นกำลังผลักดัน CPTPP (ความตกลงหุ้นส่วนการค้าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก) และความร่วมมือ Indo Pacific Partnership ที่ขับเคลื่อนโดยสหรัฐ อินเดีย และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียน (RCEP) จะเห็นได้ว่าทุกแนวคิดมีอาเซียน และ CLMVT เป็นจุดศูนย์กลางที่สร้าง connectivity in Asia ซึ่งประเทศไทยเป็นตัวเชื่อมสู่ภูมิภาค จึงทำให้อยู่ในจุดที่น่าสนใจลงทุนสูงสุด เพราะไม่ใช่แค่มุ่งเข้าประเทศไทยเท่านั้น แต่รุกเข้าสู่ภูมิภาค

“เป็นโอกาสของประเทศไทย เราต้องทำตัวให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางที่ดีให้ได้” นายสมคิดกล่าว

Advertisment

ขณะที่ 3 ปีที่ผ่านมา ก็ได้ผลักดัน 3 ยุทธศาสตร์ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้วย คือ 1.เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้ากว่า 10 เส้นทางในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รถไฟรางคู่ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง-มาบตาพุด รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

2.การก้าวออกจากประเทศรายได้ปานกลาง ที่ผลิตสินค้ามูลค่าต่ำ เปลี่ยนไปสู่การผลิตสินค้ามูลค่าสูงขึ้น โดยเน้นวิทยาการและนวัตกรรม การกำหนดเป้าหมายอุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ยังมีโครงการพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ ท่าเรือแหลมฉบัง รถไฟรางคู่ ซึ่งมูลค่าการลงทุน 5 ปีแรกกว่า 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.7 แสนล้านบาท) ซึ่งจะมาจากงบประมาณการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน (PPP) การตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (TFF) ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีหนี้ 40-50% ของจีดีพี เป็นสัดส่วนที่คอนเซอร์เวทีฟ

และ 3.การขับเคลื่อนประเทศ เข้าสู่ยุคดิจิทัลให้มากขึ้น เพราะดิจิทัลจะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ทั้งการแข่งขันและโมเดลธุรกิจ ซึ่งไทยกำลังเปลี่ยนแปลงทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงในอนาคตไทยจะก้าวเข้าสู่ e-Government สมบูรณ์แบบ เพื่อลดทอนอุปสรรคต่อการลงทุน และไทยก็ได้รับการอัพเกรดความสามารถในการแข่งขัน ล่าสุดยกระดับด้านโลจิสติกส์

นอกจากนี้มีีผู้นำจากญี่ปุ่น พานักลงทุนราว 500 คนมาประชุมในไทยและไปดูโครงการอีอีซี ส่วนจีนก็นำคณะนักธุรกิจ 600 คนมาเช่นกัน

Advertisment

ด้านตลาดหุ้นไทย ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ดัชนีตลาดอยู่ระดับ 1,400 จุด ขณะนี้ขึ้นมาเฉลี่ย 1,700 จุด มาร์เก็ตแคปกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 116% ของจีดีพีไทย หากเทียบ 4 ปีก่อนมาร์เก็ตแคปตอนนี้เพิ่มขึ้น 4 ล้านล้านบาท ส่วนจีดีพีเพิ่มขึ้น 2 ล้านล้านบาท

นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนในช่วง 4 ปี และสามารถปักหลักเสถียรภาพ

“เศรษฐกิจไทยกำลังพัฒนา ตลาดทุนไทยก็พัฒนาไปด้วย ผู้ลงทุนในตลาดทุนก็สามารถโตไปพร้อมกับตลาดทุนและเศรษฐกิจไทย ดังนั้น โอกาสการลงทุนกำลังมา The future is now. หมายถึง อนาคตขึ้นกับการลงทุนในขณะนี้ และเรากำลังเจรจาเชื่อมโยงตลาดทุนไทยกับฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ เพราะกำลังจะผลักดันให้เป็นตลาดทุนภูมิภาคในอีก 2-3 ปีนี้” รองนายกฯกล่าวทิ้งท้าย

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานในช่วงนี้ถือเป็นจังหวะที่ดี เพราะบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกาศผลดำเนินงานครึ่งปีแรก กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 7.61% ยอดขายเพิ่ม 9.01% ในเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ขณะที่จีดีพีส่งออกโตกว่า 10% นักท่องเที่ยวก็สูงถึง 19 ล้านคน สะท้อนพื้นฐานประเทศไทยแข็งแกร่ง และตลาดหุ้นไทยก็มีสภาพคล่อง โดยมูลค่าการซื้อขายสูงสุดในอาเซียน 3 เดือนที่ผ่านมาเฉลี่ย 6.6 หมื่นล้านบาท ด้านมาร์เก็ตแคปโตปีละ 15% จากปัจจุบันมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 17.42 ล้านล้านบาท และช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2551-2561) เกิดวิกฤตทั้งในและนอกประเทศ บจ.ก็สามารถทำกำไรโตได้เฉลี่ย 13% ต่อปี โตกว่า 3 เท่าของจีดีพีไทย และยังให้ผลตอบแทนปันผลต่อเนื่องด้วย จึงเชื่อว่าจะสร้างความสนใจให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนตลาดหุ้นไทย

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีกว่าที่คาด ซึ่งครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เป็นการเติบโตทุกภาคส่วน สะท้อนถึงการกระจายตัวมากขึ้น ในส่วนการดำเนินดอกเบี้ยนโยบาย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำลังจับตาความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ซึ่งขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปยังสหรัฐในสินค้าบางประเทศแล้ว แต่ยังอยู่ในวงจำกัด และคาดจะเห็นผลกระทบชัดขึ้นในปีหน้า

“ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ประเทศไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง พอรองรับต่อความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี โดยไทยอาจจะเข้มแข็งมากที่สุดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ทั้งทุนสำรองที่สูง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้เรามีอธิปไตยด้านโยบายการเงินของเราเอง ที่แตกต่างจากประเทศเกิดใหม่อื่น ๆ”

ส่วนภาคธนาคารของไทย นายวิรไทกล่าว ในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งทั้งการตั้งสำรองที่สูง และสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก็ยังมีน่าห่วงเรื่องภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังเพิ่มขึ้น

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับสื่อว่า ทิศทางของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยแน่นมากขึ้น ในส่วนของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบปรับขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องของธนาคารยังมีสูงอยู่ และทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยต้องเป็นไปตามการรับรู้ของตลาด

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติรายหนึ่ง ให้ความเห็นหลังฟังข้อมูลภาครัฐว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อเศรษฐกิจและการลงทุนโครงการต่าง ๆ เมื่อสอบถามถึงจุดอ่อนของไทย เขามีข้อสงสัยว่า ทำไมแบงก์ไทยถึงให้ดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ “ต่ำกว่า” ธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้ง ๆ เอสเอ็มอีควรได้รับการดูแลมากกว่าหรือไม่

หลังจากนี้ความเชื่อมั่นต่างชาติจะมากขึ้นแค่ไหน คงต้องติดตามผ่านเงินไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยกันต่อไป