เพิ่มมูลค่าแบรนด์ด้วย GI

แฟ้มภาพประกอบข่าว

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ธนาคารกรุงเทพ

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ในครั้งนี้ผมอยากหยิบยกประเด็นความก้าวหน้าของกลุ่มสินค้าวิสาหกิจชุมชนที่มีการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) หรือสินค้าจีไอมานำเสนอเพื่อจุดประกายให้ท่านผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ของชุมชนให้โดดเด่น และสามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ก่อนอื่นผมขอพูดถึงความหมายของคำว่า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 กำหนดคำนิยามไว้ว่า หมายถึงชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และที่สามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งทางภูมิศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว เช่น ไข่เค็มไชยา มีดอรัญญิก ส้มโอนครชัยศรี มะขามหวานเพชรบูรณ์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ หรือ Bordeaux Wine และ Irish Whiskey เป็นต้น

ประโยชน์ของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์คืออะไร ? การได้รับ GI เป็นการคุ้มครองชื่อสินค้าซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะของชุมชนที่ขึ้นทะเบียน เป็นการเพิ่มคุณค่าของสินค้าและสามารถนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการตลาด กระตุ้นให้ชุมชนรักษามาตรฐานสินค้า ขณะเดียวกัน ก็เป็นการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการกระจายรายได้สู่ชนบทและส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากสินค้าที่อาจขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้นั้น โดยมากจะเป็นสินค้าเกษตร ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และยังมีส่วนสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชนผู้ผลิตอย่างยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้นหากได้รับการสนับสนุนให้จดทะเบียนในต่างประเทศก็เท่ากับว่า เราสามารถคุ้มครองสินค้าไทยที่เข้าไปขายในตลาดโลกได้อีกด้วย

Advertisment

ปัจจุบันสินค้า GI เป็นส่วนหนึ่งบนเวทีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร และขณะนี้ ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ต่างพยายามส่งเสริมและสร้างมาตรฐานเพื่อปกป้องสินค้าจีไอของตนเองมากขึ้น จากรายงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า สินค้าไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้วมี 99 รายการ ใน 66 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในหมวดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร อาทิ ข้าว ผักและผลไม้ ผ้าไหมและผ้าฝ้าย อาหาร หัตถกรรมและอุตสาหกรรม ไวน์และสุรา เป็นต้น โดยสินค้าที่ขึ้นทะเบียนแล้วจะได้รับตราสัญลักษณ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้ใช้เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง

ด้านการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนในต่างประเทศนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว 6 รายการประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง ข้าวสังข์หยด (ขึ้นทะเบียนในสหภาพยุโรป)

เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน (ขึ้นทะเบียนในเวียดนาม) และผ้าไหมยกดอกลำพูน (ขึ้นทะเบียนในอินโดนีเซีย) ส่วนที่กำลังอยู่ในระหว่างการขอขึ้นทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง และสับปะรดห้วยมุ่น ในประเทศจีน ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ในประเทศเวียดนาม ได้แก่ มะขามหวานเพชรบูรณ์ ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน สำหรับในกัมพูชา คือ กาแฟดอยตุง และอินเดีย คือ ผ้าไหมยกดอกลำพูน

ผู้ประกอบกการที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามได้ในเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา http://www.ipthailand.go.th/th

Advertisment