สมาคมนักวิเคราะห์ฯ เผย SET ดีเหนือ EMs เคลียร์ประเด็น LTF ให้สิทธิภาษีเต็มถึงปี’62

สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน(IAA) เผย ตลาดหุ้นไทย Outperform เหนือตลาดเกิดใหม่อื่น พร้อมเคลียร์ประเด็น LTF ยังให้สิทธิทางภาษีเต็มถึงสิ้นปี62

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน(IAA) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนสูงและมีการปรับลดลงค่อนข้างเยอะ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ไม่ดีของตลาดหุ้นทั่วโลกไม่เฉพาะตลาดหุ้นไทย จากตลาดหุ้น 45 ตลาดหลัก ทั้งตลาดพัฒนาแล้ว (Developed Markets) และตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) มีการปรับลดลงถึง 40 ตลาด โดยมีเพียง 5 ตลาดที่ปรับขึ้นได้ เช่น สหรัฐฯ แต่ปรับขึ้นเพียง 1% เท่านั้น ส่วนตลาดหุ้นไทยมีการปรับลดลงราว 6% ยังจัดอยู่ในระดับที่ดีกว่าตลาดเกิดใหม่ที่มีปรับลดลง 18% และตลาดเอเชียที่ปรับลดลง 19% ซึ่งประเทศไทยปรับลดลงในระดับเดียวกันกับกลุ่มตลาดพัฒนาแล้วที่มีปรับลดลง 5% นอกจากนี้ยังไม่มีปัจจัยเสี่ยง อย่างเงินเฟ้อ การเคลื่อนไหวของดอกเบี้ยนโยบายที่สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และเงินสำรองระหว่างประเทศต่ำ ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังโดดเด่น (Outperform) กว่าประเทศอื่น

ส่วนประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาในปัจจุบันนี้ ได้แก่ เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย(Recession) แค่ไหน และเศรษฐกิจโลกจะมีโอกาสเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรงหรือไม่ หาก 2 ประเด็นนี้เกิดขึ้นจะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเข้าสู่ตลาดหมี (Bear Market: ภาวะตลาดหุ้นที่ราคาหลักทรัพย์มีระดับลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ระยะเวลานา และมีปริมาณการซื้อขายหุ้นน้อย) อย่างไรก็ดีสมาคมนักวิเคราะห์ฯ คาดว่าการเข้าสู่ภาวะถดถอยของสหรัฐฯ เป็นไปได้ยาก เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้สูงแล้ว หากเกิดเหตุการณ์ในอนาคตที่ทำให้ต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจะมีเครื่องมือที่สามารถปรับลดได้ ซึ่งคาด Fed อาจมีการปรับลดดอกเบี้ยในปี 2563

ด้านผลกระทบจากสงครามการค้าต่อประเทศจีนไม่น่ากังวล เนื่องจากเชื่อว่าจีนสามารถจัดการเศรษฐกิจในประเทศได้ ซึ่งประเทศจีนต้องการเน้นและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยมีความพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศมาราว 4-5 ปี ด้วยการลดสัดส่วนการส่งออกและการลงทุนเพื่อเพิ่มการบริโภคและเพิ่มภาคบริการในประเทศเพื่อขยับไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ภาคธนาคารของประเทศจีนอยู่ในการควบคุมของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลสามารถควบคุมได้ง่าย จากปัจจัยดังกล่าวจึงคาดว่าโอกาสที่เศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงแรงน่าจะมีเป็นไปได้น้อย

ส่วนฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติที่ยังทยอยไหลออกเป็นผลจากเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศส่วนมากเป็นเงินจากกองทุนระยะสั้น(ETF) ที่ซื้อขายตามการขึ้นลงของดัชนีฯ และโปรแกรมเทรดดิ้งที่ซื้อขายตามสูตรคำนวณซึ่งซื้อขายตามโมเมนตัมของตลาดหุ้นเช่นกัน จึงทำให้มีกองทุนระยะยาวพื้นฐานที่จะประคองตลาดหุ้นไทยจากแรงขายของเงินทุนต่างในตลาดน้อย จึงเกิดภาพที่เงินไหลออกมากแม้ดัชนีฯ ปรับลดน้อย

Advertisment

ด้าน ภาพรวมของตลาดหุ้นจากนี้ไปมองว่ายังอยู่ใน “ขาขึ้น” อยู่อย่างน้อยถึงสิ้นปี 2562 จากสภาพคล่องในตลาดที่สูง แม้จะมีเหตุการณ์ไม่ปกติเข้ามากระทบแต่เป็นเพียงการกระทบชั่วคราว และเชื่อว่าเงินในระบบจะกลับมาที่ตลาดหุ้น จากมาตรการเพิ่มขนาดงบดุล (Quantitative Easing-QE) ของ Fed ที่เคยมีเม็ดเงินสูงสุดในไตรมาส 1/58 ราว 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4.17 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงราว 7% จากปีที่สูงสุด ซึ่งสะท้อนว่าระดับสภาพคล่องในระบบยังสูง รวมถึงการลดทอนขนาดงบดุล (Quantitative Tightening-QT) จาก Fed มีการลดอย่างชะลอมาก เมื่อรวมกับยุโรปและญี่ปุ่นที่ยังฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเศรษฐกิจ และจีนที่พึ่งผ่อนคลายนโยบายการเงิน จึงคาดว่าสุดท้ายแล้วเงินจะทยอยไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้น เนื่องจากตราสารหนี้ไม่สามารถรองรับเงินที่มีอยู่ในระบบทั้งหมดได้

ส่วน Upside ของตลาดหุ้นคาดว่าการฟื้นตัวน่าจะสูง จากปัจจุบันที่ตลาดหุ้นขายมากเกินไป (oversold) และตอบรับมากเกินไป (overreact) ตามการปรับตัวลง (correction) ของตลาดพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าหลังการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์จะลดความรุนแรง และคาดว่าสหรัฐฯ และจีนจะมีโอกาสเจรจากันสิ้นเดือนพ.ย.61 ในการประชุมกลุ่มประเทศ G20 เมื่อมีปัจจัยบวกเกิดขึ้นคาดว่าตลาดพร้อมปรับขึ้นจากปัจจุบันที่มีการ oversold สูง ส่วน Downside ของตลาดหุ้น จากสถิติ Bear Market ในภูมิภาคเอเชียจะอยู่ราว 6 เดือน และมีการปรับลดลงมาราว 33% ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วง 6 เดือนใกล้เคียงกับสถิติ และมีการปรับลดลงราว 25% แล้ว ดังนั้นคาดว่าบริเวณนี้เป็นบริเวณที่ใกล้จุดต่ำสุดของตลาด

ด้าน ภาพรวมตลาดหุ้นไทยที่ Outperform กว่าตลาดอื่นและมีการปรับลดใกล้เคียงกับตลาดกลุ่มพัฒนาแล้ว มองว่า “การเลือกตั้ง” หากมีความชัดเจน เช่น ความชัดเจนของวันเลือกตั้ง และการประกาศนโยบาย จะเป็นตัวเร่ง (Catalyst) ที่จะขับเคลื่อนตลาดได้รุนแรง

ส่วนประเด็นกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) นายไพบูลย์ ยืนยันว่า ยังสามารถซื้อและได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีครบเหมือนเดิมในปี 2561-2562 ซึ่งสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะหมดลงในปี 2563 ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษากองทุนรูปแบบใหม่ โดยคาดว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะยังคงรวมอยู่ในกองทุนรูปแบบใหม่เหมือนเดิม ส่วนกรอบเวลาวางแผนให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้ ซึ่งกองทุน LTF ที่กำลังจะหมดอายุ จัดตั้งโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างฐานการลงทุนในตลาด จาก 15 ปีที่แล้ว นักลงทุนที่ทำการซื้อขายในตลาดหุ้นยังมีน้อยและมีการลงทุนในตลาดหุ้นน้อยเพียง 5% โดยประมาณ ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นมาถึง 10% จากในอดีต เป็นสะท้อนว่ากองทุน LTF ได้บรรลุวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งแล้ว ดังนั้นกองทุนรูปแบบใหม่ที่จะมาแทนกองทุน LTF ควรจะจัดตั้งเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากการสร้างตลาด เช่น “การออมเงิน”

Advertisment

“ปัจจุบันปัญหาหลักของคนไทย คือ เกษียณอายุแล้วมีเงินออมไม่พอใช้ เพราะระบบการออม เช่น บำนาญ ฯลฯ ไม่สามารถพึ่งพาได้ 100% ยังมีความจำเป็นที่จะต้องออมทางอื่นอีก ซึ่งการออมผ่านกองทุนประเภทยาวและการออมในตลาดหุ้นเป็นทางเดียวที่จะสร้างผลตอบแทนมาเสริมกับเงินออมทางอื่น และการออมในตลาดหุ้นสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ ซึ่งกองทุนใหม่ที่กำลังศึกษาอยู่ควรเป็นกองทุนที่ตอบโจทย์ของในการสร้างเงินออมให้คนไทยมากขึ้นในช่วงเกษียณ รวมถึงจะทำอย่างไรให้คนที่มีรายได้ระดับกลางถึงต่ำสามารถเข้าถึงตลาดทุนได้มากกว่าเดิมคือโจทย์ที่สภาตลาดทุนฯ จะต้องคิด” นายไพบูลย์ กล่าว