SCB งัดฟีเจอร์เจ๋งดึงเอสเอ็มอี ชูบริหารเงินสดต่อยอดขึ้นแท่นเมนแบงก์

แบงก์ไทยพาณิชย์ชู 4 แผนงานปรับทัพรับกระแสดิจิทัล-อีเพย์เมนต์ ปีนี้เน้นบริการลูกค้าเอสเอ็มอีเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ใช้ฐานข้อมูลวิเคราะห์การค้า เร่งรับสมัครลูกค้าพร้อมเพย์นิติบุคคล คาดสิ้นปีแตะ 2-3 หมื่นบริษัท พร้อมรับนโยบาย QRcode มาตรฐาน ต่อ ยอดบริการลูกค้า แต่อยู่ระหว่างการพูดคุยเรื่องค่าะรรมเนียม

นางภิมลภา สันติโชค รองผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสูงสุด คอมเมอร์เชี่ยล แบงกิ้ง โซลูชั่น (Commercial Banking Solutions) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้จัดทำแผนงานในการปรับตัวด้าน Commercial Banking Solutions เพื่อรับมือกับกระแสเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้า ให้มีความต้องการบริการที่สะดวก ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งจะสอดคล้องไปกับการเกิดขึ้นของโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) และสังคมไร้เงินสด (Cashless Society)

ภิมลภา สันติโชค

สำหรับแผนดังกล่าวแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1) การขยายฐานลูกค้า 2) พยายามเป็นธนาคารหลักของลูกค้า 3) พัฒนาประสบการณ์ใช้บริการของลูกค้า และ 4) พัฒนาบุคลากรภายในให้ใช้ดิจิทัลได้ ซึ่งทั้ง 4 ส่วนนี้จะปรับใช้กับทั้งลูกค้านิติบุคคลทั้งรายใหญ่และลูกค้าเอสเอ็มอีที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) โดยผลิตภัณฑ์หรือโซลูชั่นสำหรับลูกค้ารายใหญ่ยังต้องสร้างผลิตภัณฑ์เฉพาะเจาะจง ขณะที่ในส่วนลูกค้าเอสเอ็มอีจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นการทั่วไป (Mass) ซึ่งจะเกี่ยวกับการบริหารเงินสดมากขึ้น ยกตัวอย่าง เมื่อลูกค้าใช้ระบบบัญชีเงินเดือนผ่านธนาคาร (Payroll) ก็จะมีฟีเจอร์เสริม เช่น ERP ที่เป็นระบบจัดการสต๊อกสินค้าให้ฟรี เป็นต้น

“เดิมเวลาเราออกผลิตภัณฑ์มาจะต้องเสนอให้ลูกค้า แต่ตอนนี้เราเปลี่ยนแผนใหม่ จะต้องมาวิเคราะห์และสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็น Mass (เป็นการทั่วไป) ขึ้นมา เมื่อเราทำของให้ดี มีคุณค่า ลูกค้าจะเป็นฝ่ายมาหาเราเอง ดังนั้นเราต้องนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า” นางภิมลภากล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ “SCB Business Net” จะเป็นเสมือนโมบายแบงกิ้งสำหรับองค์กรที่ให้บริการลูกค้าธุรกิจทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอีปัจจุบัน ซึ่ึงล่าสุด (สิ้นเดือน มิ.ย. 2560) ธนาคารมีฐานลูกค้ากลุ่มนี้จำนวน 40,000-50,000 บริษัท เติบโต 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยจำนวนธุรกรรมเติบโต 7% และมูลค่าเงินที่ผ่านระบบเติบโต 20%

นางภิมลภากล่าวอีกว่า ปัจจุบันธนาคารมีลูกค้านิติบุคคลที่สมัครใช้งานพร้อมเพย์แล้วประมาณ 6,000-7,000 บริษัท โดยคาดว่าสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 20,000-30,000 ราย ซึ่งประมาณ 80% เป็นเอสเอ็มอี ทั้งนี้ ธนาคารมีฐานลูกค้านิติบุคคลทั้งสิ้น 360,000 ราย แบ่งเป็น เอสเอ็มอี 300,000 ราย ส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าผู้ประกอบการรายใหญ่ (คอร์ปอเรต) ขณะเดียวกันเพื่อให้สอดรับกับ QRcode มาตรฐาน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาในเดือน ส.ค. 2560 ทางธนาคารกำลังเตรียมพร้อมขึ้นระบบ QRcode มาตรฐานกับร้านค้าเครือข่ายที่มีอยู่สามารถรับชำระเงินได้โดยไม่ต้องใช้เงินสด

“เรื่องค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) QRcode มาตรฐานหลายฝ่ายก็คุยกันอยู่ แต่ก็มีทิศทางเหมือนกับค่าธรรมเนียมเครื่องอีดีซีที่ถูกปรับลดลง ซึ่งแม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะมีรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง ทั้งจากพร้อมเพย์ และการลดค่าฟีในช่องทางดิจิทัลทั้งลูกค้าองค์กรและรายย่อย แต่ในอีกมุมธนาคารยังได้รับผลดีจากต้นทุนสาขาที่ลดลง ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วยังต้องดูการตอบรับของตลาด” นางภิมลภากล่าว