เปิดตัว “ธงรบ” ภารกิจ IAM ปักหมุด 8 ปี แก้หนี้เน่าไอแบงก์จบ

สัมภาษณ์

บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (IAM) ได้ฤกษ์จัดงานเปิดตัวแบบ grand opening ภายใต้ชื่องาน “Refresh Credit by IAM” ณ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นการเปิดตัวทางการหลังตั้งบริษัทเมื่อปี 2559 และรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในส่วนลูกหนี้ที่ไม่ใช่มุสลิม มูลค่ากว่า 48,000 ล้านบาท มาจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2560

พร้อมกับเปิดตัว “ธงรบ ด่านอำไพ” ผู้จัดการ IAM คนแรก ซึ่งเคยเป็นกรรมการและรักษาการผู้จัดการไอแบงก์ ที่ต้องลาออกเพราะถูก “การเมืองแทรกแซง” มาแล้ว ซึ่งเขาได้ให้สัมภาษณ์ถึงการตัดสินใจกลับมารับงานครั้งนี้ เพราะถือว่าเป็นการกลับมา “ช่วยชาติ”

“ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่เราทำได้ และถ้าทำได้เร็ว ก็ช่วยไอแบงก์ให้ฟื้นขึ้นมาได้ กระทรวงการคลังก็จะได้เงินคืน จะเป็นประโยชน์กับประเทศทั้งหมด”

“ธงรบ” อธิบายว่า ในระยะแรกต้องเข้ามาจัดตั้งองค์กร วางระบบบริหารงานภายใน ไปจนถึงการหาที่ทำการบริษัท ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่อาคารว่องวานิช ถนนพระราม 9 เพราะก่อนหน้านั้นยังไม่มีผู้จัดการตัวจริง จึงต้องให้ไอแบงก์ช่วยบริหารไปก่อน

Advertisment

“ต้องยอมรับว่าผลดำเนินงานช่วงแรก ๆ ยังไม่ค่อยมาก เพราะก่อนผมมามีพนักงานแค่ 8 คน ที่ช่วยกลั่นกรองงานให้บอร์ด พอเข้ามาผมก็รับเพิ่มอีก 7-8 คน ถึงเดือน ก.ค. ที่ย้ายที่ทำการ มีพนักงานราว 16 คน วันนี้มีเกือบ 60 คนแล้ว ก็สามารถรองรับปริมาณงานได้”

ทั้งนี้ ปี 2561 เป็นปีแห่งการ “เซตอัพ” บริษัท โดยต้องมีการกำหนดกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงาน ภายใต้ความเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% รวมถึงความเป็นสถาบันการเงินที่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่มีกฎหมายดูแลเฉพาะด้วย

“ปีนี้เราต้องเซตอัพบริษัทให้จบ ทำอย่างรัดกุม ขณะเดียวกัน เราก็ต้องมีเป้าหมายในการเรียกเก็บหนี้ด้วยมีทั้งรายใหญ่และรายย่อย โดยปีนี้ตั้งเป้าไว้ 2,000 ล้านบาท น่าจะทำได้ใกล้เคียง ระยะแรกเราจะติดตามหนี้เองก่อน ต่อไปก็อาจจะจ้างเอาต์ซอร์ซรับบริหารในส่วนลูกหนี้รายย่อยทั้งติดตามหนี้และดำเนินคดี เพราะมีจำนวนเยอะ”

“ธงรบ” ฉายภาพอีกว่า ตั้งแต่ตั้งบริษัทถึงปัจจุบัน IAM มีการเรียกเก็บหนี้ได้มากกว่า 3,000 ราย เป็นจำนวนเงินมากกว่า 500 ล้านบาท และคาดว่าถึงสิ้นปี 2561 จะสามารถเรียกเก็บหนี้ได้มากกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับโอนมาจากไอแบงก์กว่า 48,000 ล้านบาทนั้น มีจำนวนลูกหนี้อยู่ 27,651 ราย เป็นรายใหญ่ที่มีสินทรัพย์เกินกว่า 20 ล้านบาทอยู่ 174 ราย มูลหนี้กว่า 42,000 ล้านบาท ส่วนรายย่อยมี 27,477 ราย มูลหนี้ราว 6,200 ล้านบาท

Advertisment

ขณะที่ปีหน้า “ธงรบ” ยอมรับว่า ถือเป็นงานที่หนักขึ้น เพราะมีตั๋วสัญญาใช้เงินที่ต้องชำระค่าสินทรัพย์ที่รับโอนมาจากไอแบงก์ที่จะครบกำหนดช่วง 5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่กลางปี 2563-2567 เฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านบาท โดยปีหน้าคงยังไม่ได้ชำระต้นเงินตามตั๋ว แต่จะต้อง roll over ไปก่อน และจะมีการชำระอัตรากำไรที่เกิดขึ้นประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งผลดำเนินงานปีนี้ จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายปีหน้าได้

“ปีหน้าตั้งเป้าว่าน่าจะสามารถเรียกเก็บหนี้ได้มากกว่า 5,000 ล้านบาท เราก็จะไม่มีปัญหาในการชำระหนี้ตามตั๋วในปี 2563 จากนั้นปี 2563 เราต้องเรียกเก็บหนี้ให้ได้ 7,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งคิดว่าในระยะ 5 ปี อยู่ในวิสัยที่น่าจะบริหารได้ จากที่ผมได้ศึกษาพอร์ตดูแล้ว ก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะการปล่อยสินเชื่อมีที่มาที่ไป โดยหลายรายมีหลักประกันท่วมหนี้ด้วยซ้ำ”

ส่วนการแก้ไขหนี้นั้น กรณีลูกหนี้ไม่ได้เข้ามาติดต่อเอง บริษัทจะมีระบบการแจ้งเป็นหนังสือ หรือ โทร.ติดต่อไปยังลูกหนี้ ซึ่งการเปิดตัวบริษัทก็ถือเป็นช่องทางให้ลูกหนี้ได้รู้จัก และทราบช่องทางการชำระหนี้ ส่วนมาตรการปรับโครงสร้างหนี้นั้น ทางบอร์ดบริษัทได้กำหนดเกณฑ์อย่างยืดหยุ่นเพื่อให้โอกาสลูกหนี้ ทั้งการขยายเวลาชำระหนี้ ปรับเงินงวด หรือกรณีหลักประกันที่ราคาสูงก็จะแนะนำให้ขายหลักประกันมาชำระหนี้ หรือรายใดอยากทำธุรกิจต่อ ก็อาจจะแนะนำให้หาผู้ร่วมลงทุน หรือกรณีลูกหนี้ไม่มีหลักประกันก็แก้ไขอีกแบบหนึ่ง

“ช่วง 6 เดือนที่ผมเข้ามา ลูกหนี้รายย่อยมีเข้ามาปิดบัญชีทุกวัน ซึ่งได้เงินต้นคืนครบ กำไร (ดอกเบี้ย)ที่ค้างชำระจ่ายหมดก็มีจ่ายบางส่วนก็มี ส่วนลูกหนี้รายใหญ่มีทั้งที่อยากทำธุรกิจต่อ อยากเลิกทำ เราก็แนะนำตามสภาพของลูกค้า ตอนนี้มีเจรจาปิดบัญชีไปได้ 1 ราย มีข้อตกลงผ่อนชำระประมาณ 14 ราย สรุปรายใหญ่ทำเสร็จแล้ว 15 ราย ซึ่งคิดว่าลูกค้าที่รับโอนมาทั้งหมดอยู่ในแนวทางที่น่าจะสามารถแก้ไขได้ทุกราย”

ผู้จัดการ IAM วางแผนจะใช้เวลาราว 8 ปี แก้ไขหนี้ที่รับโอนมาจากไอแบงก์ทั้งหมด หรือเริ่มชำระบัญชีได้ภายในปี 2568 ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป