“ทีเอ็มบี” ขยายโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ออกพันธบัตรเอสเอ็มอีมูลค่า2,950ลบ. โดยมีไอเอฟซีเป็นผู้ลงทุน

“ทีเอ็มบี” ออกพันธบัตรเอสเอ็มอี มูลค่า 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 2,950 ล้านบาท โดยมี บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) หนึ่งในสมาชิกของเวิลด์แบงก์กรุ๊ปเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย และส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ของเอสเอ็มอีอย่างตรงจุด

ในปัจจุบัน เอสเอ็มอีไทยมีสัดส่วน 95% ของธุรกิจในประเทศไทย และมีการจ้างงานคิดเป็นสัดส่วน 80% ของการจ้างงานในประเทศทั้งหมด แต่ 83% ของเอสเอ็มอีไทยที่มีอยู่ทั้งหมด 3 ล้านราย ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อที่จะหล่อเลี้ยงธุรกิจให้เดินหน้าและเจริญเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ทำให้เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือ ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และจ้างงานเพิ่มได้ ทั้งนี้ จากการสำรวจของเอ็นเตอร์ไพรส์เซอร์เวย์พบว่า เอสเอ็มอีไทยยังมีช่องว่างด้านเงินทุนโดยรวมกว่า 41 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของไทย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคแล้วยังพบว่า เอสเอ็มอีในเอเชียแปซิฟิกมีสัดส่วนการเข้าถึงสินเชื่อสูงกว่าไทย คือ 28% ขณะที่ค่าเฉลี่ยสัดส่วนการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีทั่วโลกอยู่ที่ 35%

นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี กล่าวว่า “ทีเอ็มบีมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีไทยมีความแข็งแกร่ง เติบโต และขยายธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ตามแนวคิด “Get MORE” ที่บ่งบอกถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินการเพื่อให้ลูกค้า ‘ได้มากกว่า’ โดยทีเอ็มบี เอสเอ็มอี มีเป้าหมายที่จะขยายโอกาสให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ส่งมอบโซลูชันส์ บริการและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เอสเอ็มอีอย่างแท้จริง และมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อนำไปพัฒนาการดำเนินงานและเพิ่มศักยภาพของเอสเอ็มอี

โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน (TMB Sustainability Framework) ในด้านความยั่งยืนของภาคธุรกิจธนาคาร (INDUSTRY) ที่เรามุ่งที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการบริการทางการเงินของผู้บริโภค และ ผลักดันการให้ความรู้ด้านการเงินกับประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเราเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวนี้ จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาพรวมต่อไป ในวันนี้ เราจึงได้ระดมทุนเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีโดยการออกพันธบัตร มูลค่า 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 2,950 ล้านบาท โดยมีไอเอฟซีเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ซึ่งต้องขอขอบคุณทางไอเอฟซีที่มีพันธกิจเดียวกันกับทีเอ็มบี และได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของทีเอ็มบีเพื่อเอสเอ็มอีมาตั้งแต่ปี 2555”

Advertisment

ทั้งนี้ พันบัตรเอสเอ็มอีดังกล่าว มุ่งเจ้าะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่อาจมีความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อสูงกว่ากลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่ธนาคารเคยปล่อย โดยมีขนาดเล็ก หรือมียอดขายต่อปีตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท และคาดว่าพันธบัตรมูลค่า 2,950 ล้านบาท จะปล่อยได้หมดภายในเดือนมกราคมปี62 ส่วนภาพรวมการการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของธนาคารเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) อย่างไรก็ตาม ปี 2559-2560 ธนาคารมีฐานค่อนข้างต่ำจึงทำให้ตังเลขการเติบโตสูง โดยปัจจุบันธนาคารมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่ราว 2 หมื่นล้านบาท และมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างเอสเอ็มอีอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวน 3 แสนราย ส่วนปี62 คาดว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีจะเติบโต 6-7% หรือคิดเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ 2.7-2.8 หมื่นล้านบาท

นายวิกราม กุมาร์ ผู้จัดการบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศประจำประเทศเมียนมาร์และไทย กล่าวว่า “ไอเอฟซีถือว่าเป็นภารกิจหลักที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นแรงผลักดันที่สร้างการเติบโต สร้างงาน และเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ดังนั้น พันธบัตรเอสเอ็มอีชุดนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความท้าทายที่ธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต้องเผชิญอยู่ อีกทั้งยังจะเป็นการช่วยส่งเสริมการพัฒนาโซลูชันส์ของสถาบันการเงินเอกชนเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินทุนของเอสเอ็มอีในประเทศอีกด้วย”

ไอเอฟซีและทีเอ็มบีได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ปี 2555 ในโครงการฟื้นฟูเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ และในเวลาต่อมา ไอเอฟซีได้ให้การสนับสนุนการทีเอ็มบีในการให้สินเชื่อเอสเอ็มอีผ่านโครงการการค้ำประกันความเสี่ยง (Risk-sharing Facility) สำหรับในปี 2561 นี้ ไอเอฟซียังได้ลงทุนใน TMB Green Bond ซึ่งเป็นพันธบัตรสีเขียวชุดแรกที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ไทย อีกด้วย

ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี ในการพัฒนาเอสเอ็มอี ไอเอฟซีร่วมมือกับธนาคารต่างๆ เพื่อขยายการให้สินเชื่อเอสเอ็มอี ลดปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non-performing loans) แก้ไขสินทรัพย์ที่อาจได้รับความเสียหายจากการล้มละลาย (distressed assets) เพื่อให้เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจธนาคาร สำหรับในประเทศไทย ไอเอฟซีได้ให้การสนับสนุนสถาบันการเงินที่ให้บริการแก่เอสเอ็มอีซึ่งเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ารวม 41% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของไทยมาโดยตลอด

Advertisment