คนร. ไฟเขียว “ไอแบงก์” ออกจากแผนฟื้นฟู สั่ง ขสมก. ทบทวนขึ้นค่าโดยสาร

คนร. ไฟเขียว “ไอแบงก์” ออกจากแผนฟื้นฟู สั่ง ขสมก. ทบทวนขึ้นค่าโดยสาร เห็นชอบแผนจัดซื้อเครื่องบิน “การบินไทย” ชี้เตรียมชงบอร์ด-คมนาคมเร็ว ๆนี้ สั่ง รฟท.ชงแผนตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ในการประชุม คนร.รอบหน้า ส่วนควบรวม “ทีโอที-กสท” สั่งเร่งถกอัยการหาทางออกคดีค่าแอสเซสชาร์จ

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2562เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือ ไอแบงก์ ออกจากแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจ (แผนฟื้นฟู) เนื่องจากปัจจุบันฐานะทางการเงินของ ธอท. มีความแข็งแกร่งแล้ว

“ที่ผ่านมา มีการเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังในช่วงปลายปี 2561 และในปี 2561 ผลประกอบการของ ธอท. มีกำไรสุทธิที่สูงกว่าแผนงาน โดยมีกำไรกว่า 500 ล้านบาท แต่ยังมีระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Finance : NPF) สูงกว่าแผนเล็กน้อย ซี่ง คนร. เห็นว่า ไอแบงก์มีผลประกอบการที่ดีมีกำไรแล้วและมีการปรับปรุงระบบการทำงาน ซี่งจะช่วยแก้ปัญหาในอดีตและสร้างความยั่งยืนในการประกอบกิจการในอนาคตของไอแบงก์ในอนาคตได้ จึงมีมติเห็นชอบให้ไอแบงก์ออกจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ต้องจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร และมอบหมายให้กระทรวงการคลังกำกับดูแลไอแบงก์ให้สามารถดำเนินการตามแผนงานต่อไป” นางสาวปิยวรรณกล่าว

ส่วนการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนกับไอแบงก์นั้น คนร.ให้พิจารณาดำเนินการตามช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยขณะนี้ให้ดำเนินธุรกิจตามแผนที่วางไว้เพื่อให้แบงก์มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน สามารถมีกำไรได้ต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2562 นี้ ไอแบงก์ก็มีแผนปล่อยสินเชื่อเพิ่ม 1.2 หมื่นล้านบาท และเน้นกลุ่มเป้าหมายลูกค้ามุสลิมอย่างชัดเจน

“เรื่องพันธมิตร ขึ้นกับจังหวะที่เหมาะสม เนื่องจากตอนนี้ไอแบงก์กำลังแต่งตัวอยู่ โดยกระทรวงการคลังก็ใส่เงินเพิ่มทุนเข้าไปเยอะ ดังนั้นการจะมีพันธมิตรเข้ามา ก็ต้องดูราคาที่เหมาะสม” นางสาวปิยวรรณกล่าว

ส่วน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท) ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวง ดศ.) ได้รายงานความก้าวหน้าในการควบรวม บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โดยการดำเนินการต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จะติดเพียงเรื่องคดีความข้อพิพาทต่าง ๆ อย่างเรื่อง ค่าแอสเซสชาร์จ ที่ยังเป็นคดีอยู่ จึงให้รอผลจากการหารือกับอัยการสูงสุดก่อน

Advertisment

อย่างไรก็ดี ในการควบรวมพนักงานทั้งหมดของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท จะโอนมาเป็นพนักงานของบริษัทใหม่ โดยบริษัทใหม่จะมีทั้งหมด 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐาน 2) โครงข่ายสื่อสารระหว่างประเทศ 3) บรอดแบนด์และโทรศัพท์พื้นฐาน 4) โทรศัพท์เคลื่อนที่ และ 5) การให้บริการด้าน Digital และสำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการของคณะทำงานเตรียมการรวมกิจการของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ได้มีการจัดทำแผนธุรกิจของบริษัทใหม่ระหว่างปี 2562-2567 แล้ว

ส่วนการจัดตั้งบริษัทใหม่จะสามารถจัดตั้งและเริ่มดำเนินการได้ภายใน 6 เดือน นับจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบ

นางสาวปิยวรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) ได้นำเสนอแผนในการแก้ไขเพิ่มเติมที่จะช่วยให้มีผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมาย โดย คนร. ได้มอบหมายให้ บกท. เร่งจำหน่ายเครื่องบินที่ปลดระวาง และสร้างความชัดเจนถึงการดำเนินการร่วมกับบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด และบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งให้ บกท. ดำเนินการตามแผนงานที่ได้นำเสนออย่างเคร่งครัด

“การบินไทยได้เสนอแผนที่จะปรับบทบาทตัวเองไปดำเนินงานทางด้านดิจิทัลมากขึ้น คือการขายตั๋วออนไลน์มากขึ้น โดย คนร. รับทราบแผนดำเนินงานดังกล่าว รวมถึงแผนงานด้านแอร์คราฟ ภาพรวมการจัดซื้อและจำหน่ายเครื่องบินเก่า โดยรายละเอียดจะเสนอคณะกรรมการ บมจ.การบินไทยเร็ว ๆนี้ และจะเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป” นางสาวปิยวรรณกล่าว

Advertisment

ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รฟท. ได้รายงานการดำเนินการตามแผนต่าง ๆ ทั้งในด้านการลงทุนต่าง ๆ การบริหารทรัพย์สิน และการจัดตั้งบริษัทลูกในการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงและการบริหารทรัพย์สิน รวมทั้ง ปัจจุบัน รฟท. ได้นำส่งงบการเงินให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้ คนร. ให้ รฟท. นำเสนอการพัฒนาโครงสร้างทางคู่และทางสายใหม่ทั้งหมดให้ได้ภายในปีนี้ และให้มีการนำเชื้อเพลิง B20 มาใช้ด้วย

“ในเรื่องการตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สิน ทางกระทรวงคมนาคมจะนำเข้าที่ประชุม คนร. ครั้งถัดไป” นางสาวปิยวรรณกล่าว

ส่วนท้ายองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ปัจจุบัน ขสมก. รับมอบรถโดยสาร NGV มาแล้ว จำนวน 300 คัน และคาดว่าจะรับมอบส่วนที่เหลือ 189 คัน ได้ภายในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งจะสามารถจัดหารถครบ 3,000 คัน ได้ภายในปี 2565 และได้มีการติดตั้งระบบ GPS ในรถที่มีอยู่ในปัจจุบันครบถ้วนแล้ว สำหรับการนำน้ำมัน B20 มาใช้ คาดว่าจะดำเนินการได้ครบทุกคันในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นี้ แต่ยังคงมีความล่าช้าในการติดตั้งระบบ E-Ticket ทั้งนี้ ปัจจุบัน ขสมก. ได้นำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการให้กระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สคร. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางกระทรวงคมนาคม ได้เห็นชอบกรอบอัตราค่าโดยสารรถเมล์ใหม่จนถึงปี 2563 ซึ่งทาง คนร. เป็นห่วงผลกระทบประชาชนจึงให้ดูช่วงเวลาการปรับให้เหมาะสม อย่างเช่น รถเมล์ร้อนที่จะปรับขึ้น 2 บาท เป็น 10 บาท ภายในปี 2563 แต่จะต้องดูว่าจะปรับขึ้นครั้งเดียว 2 บาท หรือปรับขึ้นปีละ 1 บาท เป็นต้น
“เดิมจะมีการประกาศขึ้นค่าโดยสารวันที่ 21 ม.ค. 1 บาท ฉะนั้น ก็ให้ไปทบทวน แล้วมารายงาน คนร. ครั้งถัดไป” นางปานทิพย์กล่าว

นอกจากนี้ คนร.ยังได้เห็นชอบร่างหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจที่ได้ปรับปรุงจากหลักการและแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจปี 2552 ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีของรัฐวิสาหกิจของสากล รวมทั้งการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปัจจุบัน และมอบหมายให้ สคร. ในฐานะเลขานุการ คนร. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

รวมถึงเห็นชอบหลักการในการปรับปรุงอัตราและหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้มีมาตรฐานและสอดคล้องกับประเภทและกิจการของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คนร. มีข้อสังเกตให้มีการพิจารณาหลักการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับลักษณะและผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งให้เหมาะสม