“ทิพยฯ” จ่อขายยูนิตลิงค์ Q3 ดันเบี้ยปี’62 แตะหมื่นล้าน

“ทิพยประกันชีวิต” ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมปี’62 แตะ 1 หมื่นล้านบาท โต 32% ปักธงขายยูนิตลิงค์ไตรมาส 3 ตั้งโต๊ะเจรจาแบงก์ไทย-ต่างชาติ 2-3 แห่ง หวังปั๊มเบี้ยผ่านแบงก์แอสชัวรันซ์ ขยายฐานลูกค้าใหม่ ทำใจมาร์เก็ตคอนดักต์ฉุดเบี้ยขาย 2 เดือนท้ายปี”61 เบี้ยรับรวมปี’61 ต่ำเป้าทำได้แค่ 7.6 พันล้านบาท

นายศุภชัย จงศุภวิศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาด บมจ.ทิพยประกันชีวิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2562 นี้บริษัทตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 10,000 ล้านบาท เติบโต 32% จากปีที่แล้ว ซึ่งหลัก ๆ ยังคงมาจากยอดขายประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ (MRTA) ผ่านธนาคารออมสินที่มีสัดส่วนสูงถึง 85% และที่เหลืออีก 15% มาจากพันธมิตรแบงก์แอสชัวรันซ์เป็นหลัก โดยเฉพาะธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยที่เพิ่งเปิดขายประกันออมทรัพย์ระยะสั้น 6/2 เมื่อช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าเงินฝากรายใหญ่ของธนาคาร CIMBT มียอดขายเข้ามาแล้ว 300-400 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อคนจ่ายเบี้ยประกันที่ 1 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันกำลังจะเพิ่มสินค้าออมทรัพย์ในเซ็กเมนต์ที่ธนาคารยังขาดอยู่

อย่างไรก็ดี บริษัทมีนโยบายที่จะขยายพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ เพิ่มเติม เนื่องจากหลายแบงก์เริ่มเปิดรับพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้ามากขึ้น ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการเจรจาพันธมิตรแบงก์ทั้งของไทยและต่างชาติอยู่ประมาณ 2-3 ราย โดยคาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกระยะจึงมีความชัดเจน

นอกจากนี้ บริษัทกำลังดำเนินการพัฒนาระบบหลังบ้านและออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเตรียมขายสินค้าประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงค์) ซึ่งกำลังดำเนินการยื่นขออนุมัติจาก คปภ. ซึ่งคาดว่าจะเห็นภายในไตรมาส 3/62 นี้ และในเบื้องต้นอาจขายผ่านช่องทางธนาคารก่อน แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะขายผ่านแบงก์ไหนบ้าง

ส่วนช่องทาง “ตัวแทน” นั้นนายศุภชัยกล่าวว่า อาจไม่ได้เติบโตนัก เนื่องจากมีตัวแทนประมาณ 200 คน แต่แอ็กทีฟอยู่ 40-50 คนเท่านั้น หลัก ๆ เน้นขายแบบประกันตลอดชีพ ประกันบำนาญ 90/5 และออมทรัพย์ระยะกลาง 15/10 โดยคาดว่าปีนี้จะทำยอดขายได้ 100 ล้านบาทจากสินค้าใหม่ ๆ ที่ออกมากระตุ้นให้ตัวแทนขายมากขึ้น

สำหรับผลการดำเนินการปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทมีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 7,600 ล้านบาท เติบโต 16% มาจากยอดขาย MRTA เกือบ 6 พันล้านบาท เติบโต 19% และแบงก์แอสชัวรันซ์เข้ามา 800-900 ล้านบาท ส่วนช่องทางตัวแทนมีเบี้ยรับอยู่ที่ 40 ล้านบาท

ทั้งนี้ เบี้ยประกันรับรวมปีที่แล้วอาจต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 8 พันล้านบาท เนื่องจากการกำกับดูแลด้าน market conduct ทำให้คนขายมีความวิตกกังวล พร้อมยอมรับว่าได้รับผลกระทบช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้วอย่างชัดเจน จากยอดขายที่ลดลง 20-30% ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องมาร์เก็ตคอนดักต์ให้แก่คนขาย ว่าสิ่งไหนที่ต้องทำหรือไม่ควรทำ รวมถึงสร้างกระบวนการการทำงานทุกอย่างให้เป็นไปตามประกาศเสนอขาย คปภ. ซึ่งคาดว่ายอดขายจะฟื้นกลับมาได้ประมาณไตรมาส 2/62 นี้

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!