ปัญหาค่าจ้างที่ยากจะรับมือ

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย เจเน็ต เฮ็นรี่ ธนาคารเอชเอสบีซี

 

เมื่อหลายประเทศในซีกโลกตะวันตกมีอัตราการว่างงานใกล้แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่เหตุใดการเติบโตของค่าจ้างจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้าและเงินเฟ้อกลับอ่อนแอ ที่จริงแล้วปีนี้ค่าจ้างของญี่ปุ่นปรับตัวลดลง แม้ว่าอัตราการว่างงานได้ร่วงลงเฉียดระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2537 ในขณะเดียวกัน ตัวเลขการว่างงานของสหรัฐก็อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปี แต่รายได้เฉลี่ยต่อปีเติบโตเพียงร้อยละ 2.5 และเงินเฟ้อพื้นฐานโตแค่ร้อยละ 1.7

ปัญหาค่าจ้างที่น่าปวดหัวนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ เนื่องจากการเติบโตของค่าจ้างและเงินเฟ้อมีผลต่อนโยบายการเงิน และนโยบายรัฐบาลต้องแก้ปัญหาการแบ่งขั้วในตลาดแรงงานที่เพิ่มขึ้น และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่สูงขึ้น

Advertisment

ค่าจ้างที่อ่อนแอส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการเงินโลก และภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่ตามมา อย่างเช่น ความซบเซาของตลาดแรงงาน การคาดการณ์เงินเฟ้อในระดับต่ำ จำนวนแรงงานสูงวัยเพิ่มขึ้น และกฎระเบียบการทำงานที่ยืดหยุ่น การจำกัดเพดานค่าจ้างของภาครัฐ และการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ลดน้อยลง บั่นทอนอำนาจต่อรองของแรงงาน

แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นอีกปัจจัยที่จำกัดการเติบโตของค่าจ้าง แรงงานมนุษย์ที่ถูกทดแทนด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติจำเป็นต้องหันไปทำงานที่มีการเติบโตของค่าจ้างต่ำกว่าและใช้ทักษะฝีมือน้อยกว่า สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับกระแสนิยมการทำงานไม่ประจำแต่ทำหลายที่ (Gig Economy) ซึ่งหลายคนได้รับค่าจ้างต่อเมื่อส่งมอบงาน หรือรับค่าจ้างต่อชิ้นตามที่ตกลงกันทางออนไลน์ แทนการรับค่าจ้างประจำเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน

ระบบอัตโนมัติที่ทรงพลังขึ้นทุกทีไม่ได้กำลังสกัดกั้นการสร้างงานที่มีมาอย่างแข็งแกร่ง นับตั้งแต่ก่อนที่จะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม พัฒนาการด้านเทคโนโลยีก่อให้เกิดการสร้างงานมากกว่าทำให้สูญหายไป แต่ปัจจุบันนี้ความล้มเหลวของหุ่นยนต์และนวัตกรรมอื่น ๆ ในการปรับปรุงผลิตภาพของเศรษฐกิจโดยรวมกำลังฉุดรั้งการเติบโตเฉลี่ยของค่าจ้าง

ทำไมหรือ ? ผลิตภาพที่อ่อนแอในทุกวันนี้เทียบกับช่วงปลายทศวรรษ 1990 ที่ผลิตภาพยังแข็งแกร่ง ดูเหมือนว่าประโยชน์จะกระจุกตัวอยู่ในไม่กี่ภาคส่วนที่มีขนาดเล็กกว่า นั่นคือ อัตราส่วนทุนต่อแรงงานที่ลดลงสะท้อนถึงการลงทุนที่ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนทักษะฝีมือที่เหมาะสมก็เป็นปัญหาเช่นกัน ผลิตภาพต่ำของแรงงานอาจเป็นผลมาจากการลงทุนที่อ่อนแอ แต่ถ้าแรงงานไม่สามารถใช้เครื่องมือที่ทันสมัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตภาพการผลิตรวมก็ย่อมจะอ่อนแอได้เช่นกัน

Advertisment

การกระจายตัวของการเติบโตของค่าจ้างในทุกภาคส่วนสะท้อนถึงการแบ่งขั้วตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น ในสหรัฐ งานหลายประเภทต้องการคนที่จบการศึกษาสูงขึ้น หรือมีทักษะที่เครื่องจักรไม่สามารถแทนที่ได้ง่าย เช่น งานสันทนาการมีการเติบโตของค่าจ้างสูงกว่าภาคธุรกิจอย่างค้าปลีกที่ใช้ระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมา ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อตลาดแรงงานเห็นได้ชัดขึ้นในตลาดที่พัฒนาแล้ว แต่ตลาดเกิดใหม่ก็ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน นั่นคืองานที่ทำประจำได้รับผลโดยตรงจากการถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ และได้รับผลโดยอ้อมจากการที่บริษัทข้ามชาติหลายแห่งใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น แทนการจ้างแรงงานจำนวนมากในต่างประเทศ

ความเหลื่อมล้ำทางรายได้จะยังคงสูงขึ้น เนื่องจากแรงงานที่ถูกเลิกจ้างปรับค่าแรงเมื่อกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาท้าทายของผู้กำหนดนโยบาย หลาย ๆ ปัจจัยที่กดดันการเติบโตของค่าจ้าง จำกัดเงินเฟ้อ และนำไปสู่ความแตกต่างของรายได้และความมั่งคั่ง ไม่สามารถแก้ไขโดยใช้นโยบายการเงินอย่างเดียว รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศเผชิญกับข้อเรียกร้องให้แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำทางรายได้ ไม่ว่าจะด้วยการเก็บภาษีหุ่นยนต์ หรือใช้นโยบายแจกเงิน

อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไม่อาจย้อนกลับคืนได้ ดังนั้นจึงควรมุ่งสนับสนุนการลงทุนที่เพิ่มผลิตภาพและยกระดับทักษะของแรงงานที่ถูกเลิกจ้างเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยเกื้อหนุนการเติบโตในระยะยาวและปรับปรุงการคลังสาธารณะ