เสน่ห์ญี่ปุ่น…ดึงดูดให้ลงทุน

คอลัมน์ จับช่องลงทุน

โดย ณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้ เวลธ์

หลังจากประเทศญี่ปุ่นยกเลิกวีซ่าให้นักท่องเที่ยวชาวไทยได้เดินทางมาท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้ง่ายมากขึ้น ก็ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่นทำลายสถิติสูงสุดต่อเนื่อง โดยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้แจ้งตัวเลขการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 17.4% คิดเป็นจำนวน 13.75 ล้านคน หนึ่งในนั้นเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 530,900 คน ซึ่งยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการส่งเสริมของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

ไม่เพียงแต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ตัวเลขทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็ดีขึ้นตามไปด้วย ล่าสุด GDP ของญี่ปุ่นไตรมาส 2 ของปีนี้ ขยายตัวที่ 4% QoQ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุดในรอบมากกว่า 2 ปี โดยมาจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่แข็งแกร่งจากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ การส่งออกของญี่ปุ่นเดือน ก.ค. 2560 ในรูปเงินเยนขยายตัวกว่า 13.4%YoY คิดเป็นมูลค่า 6.49 ล้านล้านเยน

ประเด็นสำคัญที่ยังทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นน่าลงทุนอยู่ คือ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญของนโยบายการเงินในประเทศหลักทั่วโลก โดยเริ่มจาก Fed ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการลดขนาดงบดุลในเดือนกันยายนนี้ และ ECB ก็น่าจะเริ่มทยอยลดการกระตุ้นเศรษฐกิจลง โดยคาดว่า ECB จะประกาศลดอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE ลงจากปัจจุบันที่ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ลงเป็น 4 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ซึ่งจะประกาศในเดือนกันยายนนี้เช่นเดียวกับ Fed

ผลการกระทำของ Fed และ ECB ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น Bond Yield ของทั้ง 2 โซนมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น และกดดันให้ภาวะทางการเงินตึงตัว ทำให้มีโอกาสเงินลงทุนไหลออกจากตลาดหุ้นเกิดใหม่ แต่สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่นน่าจะได้ประโยชน์จากค่าเงินเยนที่จะสวนทางอ่อนค่าลง ช่วยให้ผลกำไรของหุ้นญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มจากกำไรของบริษัทลูกที่ไปตั้งในต่างประเทศ ส่วนนโยบายการเงินของ BOJ ยังมีแนวโน้มผ่อนคลาย โดยเข้าซื้อสินทรัพย์อยู่ปีละ 80 ล้านล้านเยน และใช้มาตรการ Yield Curve Control ที่กำหนดให้คงเป้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) อายุ 10 ปี ไว้ที่ประมาณ 0% ผ่านการรับซื้อพันธบัตรอายุ 10 ปี ในปริมาณไม่จำกัด (Fixed-rate Operation)

สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่นนั้นที่ผ่านมา หลายท่านจะดู Nikkei 225 เป็นหลัก แต่ดัชนี Nikkei 225 ก็ปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้วถึงปีนี้ ตั้งแต่ต้นปีก็บวกเพิ่มขึ้นมาเพียงเล็กน้อยราว 1.5% และ PE ก็อยู่ที่ 16 เท่า จึงอยากแนะนำหุ้นญี่ปุ่นที่เป็นหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่ยังมีโอกาสเติบโตได้มากกว่า เพราะมี PE 13 เท่า และผลกำไรของบริษัทกลุ่มนี้ยังมีโอกาสที่เติบโตได้สูงราว 20-30% เมื่อเทียบกับบริษัทใน Nikkei 225 ที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ 12% ส่วน P/BV ของหุ้นกลุ่มนี้ก็อยู่ที่ 1.3 เท่าเทียบกับ Nikkei 225 อยู่ที่ 1.6 เท่า

ดังนั้น เศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่กำลังเติบโต และในปี 2563 ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงโตเกียว ซึ่งจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมก็เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีโอกาสผลกำไรเติบโตสูง และราคาหุ้นยังไม่แพง นักลงทุนสามารถลงทุนได้