สรรพสามิตชี้โครงสร้างภาษีรถจยย.ใหม่ จ่ายเพิ่มน้อย เหตุมอไซค์ส่วนใหญ่ซีซี.ต่ำ

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต(แฟ้มภาพ)
สรรพสามิต คาดโครงสร้างภาษีรถจักรยานยนต์ใหม่ กระทบทำให้ภาษีรถที่ใช้กันส่วนใหญ่เพิ่มแค่ 200 บาทต่อคัน เหตุรถมอเตอร์โซค์ส่วนใหญ่เครื่องยนต์ซีซี.ต่ำ ไม่ใช่บิ๊กไบค์

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (7 พ.ค.) เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และมลพิษต่าง ๆ ระยะที่ 2 โดยจัดเก็บจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์จากการจัดเก็บภาษีตามความจุของกระบอกสูบ เป็นการจัดเก็บภาษีตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการจัดเก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศที่คำนึงถึงประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน และสนับสนุนทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานในอนาคต

ประกอบกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจากการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ จะส่งผลให้ลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และปัญหามลพิษต่าง ๆ ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศได้ โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 เนื่องจากในปี 2562 รถจักรยานยนต์ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานมลพิษตาม มอก. ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับ ซึ่งเทียบเท่ากับมาตรฐาน Euro 4 ของสหประชาชาติ (UN) จึงเห็นควรให้กลุ่มอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ มีระยะเวลาในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมของระบบ Eco Sticker ไปพร้อมกัน ทั้งนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ จึงเห็นควรให้รถจักรยานยนต์ที่ได้รับการลดอัตราภาษีต้องปฏิบัติตามมาตรฐานยางรถจักรยานยนต์ มอก. 2720 – 2558 หรือ UN R 75

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการ สำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวว่า ปัจจุบัน รถจักรยานยนต์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศมีอยู่ราว 1.5 ล้านคันต่อปี ซึ่งกว่า 90% มีขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 150 ซีซี. และส่วนใหญ่จะมีขนาดต่ำกว่า 125 ซีซี. โดยผลกระทบจากการปรับภาษี รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่อาจจะมีผลให้รถแต่ละคันต้องเสียภาษีเพิ่มประมาณ 100-200 บาทต่อคันเท่านั้น จะมีเฉพาะในส่วนบิ๊กไบค์ หากมีเครื่องยนต์เกิน 1,000 ซีซี. ที่หากปล่อยก๊าซ Co2 มาก ก็อาจจะเสียเพิ่มจาก 17% เป็น 18% แต่หากปล่อยก๊าซต่ำ ก็อาจจะเสียภาษีลดลงก็ได้

“ปัจจุบัน รถจักรยานยนต์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศมีอยู่ราว 1.5 ล้านคันต่อปี ส่วนใหญ่กว่า 1.4 ล้านคนเป็นรถที่มีขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 150 ซีซี. ที่เหลือเป็นบิ๊กไบค์อีกราว 1,000 คัน โดยเราเก็บภาษีรถจักรยานยนต์อยู่ราว 2,000 ล้านบาทต่อปี จากโครงสร้างใหม่ก็น่าจะเก็บได้เพิ่มราว 30-40% หรือราว 600-800 ล้านบาทต่อปี” นายณัฐกรกล่าว

ทั้งนี้ สำหรับโครงสร้างภาษีรถจักรยานยนต์ในปัจจุบัน ที่เก็บตามขนาดเครื่องยนต์ หากไม่เกิน 150 ซีซี. จะเสียภาษีที่ 2.5% ขณะที่ 150-500 ซีซี. เสีย 4% ส่วน 500-1,000 ซีซี. เสีย 8% และ 1,000 ซีซีขึ้นไปเสีย 17%

Advertisment

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโครงสร้างภาษีรถจักรยานยนต์ใหม่ จะประกอบ้ดวย รถใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) เก็บที่ 1% รถที่ปล่อยก๊าซ CO2 ไม่เกิน 50 กรัมต่อกิโลเมตร เสียที่อัตรา 3% รถที่ปล่อยก๊าซ CO2 ตั้งแต่ 51-90 กรัมต่อกิโลเมตร เสียที่อัตรา 5% รถที่ปล่อยก๊าซ CO2 ระหว่าง 91-130 กรัมต่อกิโลเมตร เสียที่อัตรา 9% และ รถที่ปล่อยก๊าซ CO2 เกิน 130 กรัมต่อกิโลเมตรขึ้นไป เสียที่อัตรา 18% ส่วนอื่น ๆเสียที่ 20% และ รถจักรยานยนต์ต้นแบบเพื่อการวิจัยพัฒนาเสียที่ 0%