แบงก์แข่งหนักปล่อยกู้พีโลน หวั่นหนี้ครัวเรือนพุ่งแตะ 80%ของจีดีพี

แฟ้มภาพ
ทีเอ็มบี ชี้หนี้สินเชื่อส่วนบุคคลโตทะลุ 6.5 แสนล้าน ดันหนี้ครัวเรือนทะยานแตะ 80% ของจีดีพีอีกรอบ เหตุแบงก์แข่งปล่อยกู้ “บัตรกดเงินสด” โกยรายได้ดอกเบี้ย สูงกว่าสินเชื่อธุรกิจ จับตา ธปท. ออกเกณฑ์ DSR คุมเข้ม

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สินเชื่อส่วนบุคคล (personal loan) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากต้นปี 2559 ยอดสินเชื่ออยูที่ 4.5 แสนล้านบาท สิ้นไตรมาส 2 ปีนี้ (30 มิ.ย. 62) น่าจะเพิ่มขึ้นทะลุ 6.5 แสนล้านบาท โดยการเติบโตเร่งตัวมากขึ้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่เติบโตมากกว่าผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์)

รุกหนักสินเชื่อบุคคลโต 20%

“สินเชื่อส่วนบุคคลปัจจุบันมียอดรวมราว 1 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ 42% เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (บัตรกดเงินสด) เฉพาะของแบงก์มีกว่า 4.02 แสนล้านบาท ส่วนน็อนแบงก์ 2.16 แสนล้านบาท รวม 6.18 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน พวก home for cash 29% สินเชื่อจำนำทะเบียน หรือ car for cash 4% และอื่น ๆ 25%”

สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน หรือบัตรกดเงินสด ที่โตที่เร่งตัวขึ้นในส่วนที่แบงก์ปล่อยสินเชื่อ สิ้นไตรมาสแรกปีนี้โตถึงกว่า 20% ขณะที่ของน็อนแบงก์ชะลอตัว โตไม่ถึง 10% การที่แบงก์รุกสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น น่าจะมาจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ระดับต่ำ ขณะที่ต้นทุนความเสี่ยงสูง ทำให้การปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอี ต้องเสียเงินกองทุนค่อนข้างมาก ต้องตั้งสำรองมากด้วย

แข่งปล่อยหวังกู้ชาร์จดอกเบี้ย

“การปล่อยสินเชื่อรายย่อยจะกินเงินกองทุนน้อยกว่า เพราะกระจายความเสี่ยง แม้การตั้งสำรองจะไม่ได้ต่ำ แต่ดอกเบี้ยชาร์จได้เยอะมาก สินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบดอกเบี้ย effect rate เฉลี่ยอยู่ที่เกือบ 23% จากเกณฑ์ที่กำหนดให้คิดได้ไม่เกิน 28% แบงก์จึงไม่อยากเสียเงินกองทุนเยอะ แถมเจอภาวะ NIM (ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ) กดดัน ต้องตั้งสำรองเยอะ สินเชื่อบ้านถูกคุม จึงหันมาหารายย่อยเพราะได้ยีลด์ (ผลตอบแทน) มากกว่า”

ชี้แบงก์ชาติจับตา

ที่ผ่านมาผู้ให้บริการบัตรกดเงินสดแข่งขันกันมาก มีการทำโปรโมชั่นโดยเฉพาะแคมเปญผ่อน 0% แนวโน้มข้างหน้าที่การปล่อยกู้ยิ่งทำได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางดิจิทัล จะยิ่งทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลโตมากขึ้นอีก ซึ่งค่อนข้างอันตราย เพราะเป็นการกู้ไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย โอกาสจะก่อหนี้เกินตัวมีมาก

นายนริศกล่าวว่า ในเดือน ส.ค.นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ คงพูดถึงสินเชื่อส่วนบุคคลที่โตเร่งตัวขึ้นมากด้วย เนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังขยายตัวไม่หยุด สิ้นไตรมาส 2 ปีนี้มีโอกาสที่หนี้ครัวเรือนจะแตะ 80% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) อีกครั้ง หลังเคยถึงระดับ 80% เมื่อปี 2560 และปลายปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 78%

“หนี้ครัวเรือนน่าจะไปต่อ เพราะสินเชื่อบ้านก็ยังไม่ได้ชะลอ สินเชื่อรถก็ยังโต ที่ผ่านมาจะพูดกันถึงเรื่องสินเชื่อที่มีหลักประกันต้องระวัง แต่สินเชื่อไม่มีหลักประกันก็โตขึ้นมาก และกดดันหนี้ครัวเรือน ขณะที่จีดีพีไม่ได้โต”

งัดเกณฑ์ DSR คุมหนี้ครัวเรือน

ดร.สรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยว่าหนี้ครัวเรือนยังคงขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องนับแต่ครึ่งหลังปี 2560 ล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ 13.0 ล้านล้านบาท ขยายตัว 6.3% ซึ่ง ธปท.ได้แสดงความกังวลต่อเนื่อง เนื่องจากครัวเรือนไทยออมน้อยลง มีหนี้สูงขึ้น เป็นหนี้เร็ว และเป็นหนี้นาน อยู่ในสถานะที่เปราะบางต่อเศรษฐกิจและเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

จึงมีแนวคิดใช้เกณฑ์กำกับหนี้สินต่อรายได้ (DSR) เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนก่อหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ได้ดียิ่งขึ้น และการบริโภคชะลอลงในวันนี้ แต่ช่วยให้สามารถบริโภคในวันหน้าได้มากขึ้น ทำให้การบริโภคและการเติบโตมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ขณะที่นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ในส่วนของหนี้ครัวเรือน ธปท.มีแผนจะออกมาตรการกำกับช่วงปลายปีนี้กรุงศรีฯปล่อยกู้พีโลนทะลุ 10%

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกปี 2562 สินเชื่อพีโลนของธนาคารอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท เติบโตกว่า 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เติบโตสูงกว่าหลายปีที่ผ่านมาที่จะโตเลขหลักเดียว

“การเติบโตของพีโลนแบบเลขสองหลัก (double digit) ของทั้งอุตสาหกรรมเคยเกิดขึ้นช่วงหลังน้ำท่วม ก่อนที่จะลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 6-7% อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1-2 ปีที่หลังเริ่มเห็นพีโลนขยับขึ้นมาเติบโตขึ้นที่ 8-9% และมีความเป็นไปได้ว่าปีนี้พีโลนของทั้งอุตสาหกรรมจะเติบโตถึงระดับ 10%”

หวั่นคุม DSR ฉุดพีโลนชะลอ2%

ภาพการแข่งขันของสินเชื่อส่วนบุคคล ผู้เล่นหรือผู้ประกอบการมีการปรับรายได้ขั้นต่ำของลูกค้าขึ้น จากเดิมที่ 10,000 บาท ปรับขึ้นมาที่ 15,000, 20,000 และ 30,000 บาทตามลำดับ เพื่อคัดเลือกคุณภาพลูกค้า อย่างไรก็ตามธนาคารกรุงศรีฯเป็นเพียงหนึ่งใน 2 ผู้เล่นที่ยังเน้นปล่อยกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ 10,000 บาท เป็นเหตุผลหนึ่งที่หนุนให้พอร์ตพีโลนธนาคารเติบโต

ขณะที่ ธปท.เตรียมออกเกณฑ์คุมหนี้สินต่อรายได้ (DSR) จะส่งผลให้การเติบโตของพีโลนชะลอลง 1-2% และมองว่าเป็นไปได้ที่หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 80% ของจีดีพีในปีนี้

ห่วงคน 3 กลุ่มก่อหนี้เกินตัว

ด้านนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า เวลาแบงก์จะปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลจะพิจารณาก่อนว่า ลูกค้ามีสินเชื่อที่มีหลักประกันอยู่แล้ว เช่น สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้านพอผ่อนชำระไประยะหนึ่งแล้วจะมีช่องกู้ได้อีกจึงปล่อยกู้ เพราะหากผิดสัญญาก็จะโยงกับสินเชื่อที่มีหลักประกันด้วย ลูกค้าจะไม่กล้าผิดนัดชำระ เพราะแบงก์ต้องสร้างผลตอบแทน (ยีลด์) ในพอร์ตเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การปล่อยพีโลนมากขึ้นของแบงก์ไม่น่าห่วงเท่าในส่วนของน็อนแบงก์ เนื่องจากน็อนแบงก์จะปล่อยสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันในมือเลย และปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภค ใช้จ่ายผ่อนสินค้าเป็นหลัก ซึ่งผลศึกษาของสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า จากกลุ่มตัวอย่างคนไทยที่เป็นหนี้ 29 ล้านคนจะพบว่า ในทุกช่วงอายุจะมีหนี้พีโลนอยู่ราว 20% หากการเติบโตของพีโลนเกิดใน 3 กลุ่ม คือ คนมีรายได้ไม่ถึง 3 หมื่นบาท คนอายุต่ำกว่า 22 ปี และคนอายุ 55 ปี ก่อนเกษียณอายุ จะยิ่งน่ากลัวว่าจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้

ชี้มาตรการ DSR “ยาแรง” 

นายสุรพลกล่าวว่า สำหรับตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 2562 ต้องรอกลางเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งเครดิตบูโรมีประเด็นที่จับตาอยู่ 1.อัตราการเติบโตสินเชื่อบ้าน เฉพาะช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2562 จะเป็นอย่างไร 2.สินเชื่อรถยนต์ยังเติบโตหรือไม่ เพราะช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อ 2 ประเภทนี้เติบโตสูง และมีน้ำหนักในหนี้ครัวเรือนมาก 3.การอนุมัติบัตรเครดิตให้แก่คนอายุไม่เกิน 22 ปี (เกิดหลังปี 2540) วัยเริ่มต้นทำงานมีมากขึ้นหรือไม่ 4.หนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วเป็นอย่างไร 5.หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เป็นอย่างไร

“ทั้งหมดนี้จะตอบโจทย์ในเรื่องการออกมาตรการ DSR ซึ่งถือว่าเป็นยาแรงจึงต้องดูว่าจะคุมเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน หรือคุมสินเชื่อที่มีหลักประกันด้วย คำถามคือถ้าคุมคนกลุ่มนี้ แล้วคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มเดียวกันกับคนที่กินใช้จริง ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องกระตุ้นคนกลุ่มนี้ ผลกระทบจะเป็นอย่างไร” นายสุรพลกล่าว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!