บาทอ่อนค่า รับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศระหว่างวันที่ 4-8 พฤศจิกายน 2562 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยได้รับแรงหนุนหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาดในช่วงวันศุกร์ก่อนหน้า (1/11) โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 128,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 90,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ยังช่วยหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเช่นกัน โดยนายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในระหว่างการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงเทพฯ ว่า เขาเชื่อว่าทั้งสองประเทศจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าในเฟสแรกได้ภายในเดือนนี้ นอกจากนี้ข่าวดีของการเจรจาการค้ายังมีข่าวเชิงบวกต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ โดยในวันพฤหัสบดี (7/11) นายเกา เฟง โฆษกประจำกระทรวงการคลังของจีนได้แถลงกับสื่อว่า จีนและสหรัฐมีการเจรจาที่จริงจัง และสร้างสรรค์ โดยได้ทำการตกลงกันว่าจะทยอยถอนการกำหนดขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่มีต่อกันออก ทั้งนี้นายเฟงยังไม่ได้แจ้งกำหนดการใดที่แน่ชัดออกมา สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้มีประกาศออกมาไม่มากนัก โดยส่วนมากยังไร้ทิศทางที่ชัดเจน โดยตัวเลขที่สำคัญได้แก่ ดัชนีภาคบริการของสหรัฐของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ปรับตัวขึ้นที่ระดับ 54.7 ในเดือน ต.ค. จากระดับ 52.6 ในเดือน ก.ย. ซึ่งดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวก็สนับสนุนการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน

สำหรับค่าเงินบาทระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (4/11) ที่ระดับ 30.16/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (1/11) ทั้งนี้ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าตั้งแต่ต้นสัปดาห์ โดยเกิดจากการคาดการณ์ว่าทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% โดยการประชุมในวันพุธ (6/11) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.25% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมิน โดยเป็นผลจากการส่งออกที่ลดลง ได้เริ่มส่งผลกระทบเชิงลบสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ซึ่งประกอบด้วยการยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ, การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ, การโอนเงินออกนอกประเทศ, การซื้อขายทองคำในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ เมื่อนักลงทุนทราบถึงการปรับนโยบายดังกล่าว ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (8/11) ที่ระดับ 30.38/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 30.1530.43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (4/11) ที่ระดับ 1.1167/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/11) ที่ระดับ 1.1143/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวอ่อนค่าลงตลอดทั้งสัปดาห์ โดยปัจจัยหลักมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจในยูโรโซนที่ไม่สู้ดีนัก โดยในวันจันทร์ (4/11) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนปรับขึ้นจากระดับ 45.7 ในเดือน ก.ย. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดรอบ 7 ปี สู่ระดับ 45.9 ในเดือน ต.ค. อย่างไรก็ตามดัชนียังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ปีเดือนที่ 9 ติดต่อกัน ซึ่งตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นถึงการหดตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิต ทั้งนี้ยอดสั่งซื้อใหม่ในภาคการผลิตของเยอรมนีร่วงลงในเดือน ต.ค. เป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน และภาคโรงงานเยอรมนีได้ปรับลดการจ้างงานลงในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี นอกจากนี้ในวันพฤหัสบดี (7/11) มีการรายงาน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี ในเดือนกันยายน ออกมาปรับตัวลดลง 0.6% ซึ่งลดลงมากกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงเพียง 0.4% ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1036-1.1175 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/11) ที่ระดับ 1.1053/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (4/11) ที่ระดับ 108.21/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/11) ที่ระดับ 108.04/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ การส่งสัญญาณความคืบหน้าในแง่บวกของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ช่วยลดความกังวลของนักลงทุนต่อสภาวะสงครามการค้า รวมถึงเพิ่มความคาดหวังว่าทั้ง 2 ประเทศจะสามารถบรรลุข้อตกลงในเฟสแรกได้สำเร็จ ทำให้นักลงทุนเพิ่มการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงและลดการถือครองสกุลเงินเยนลงในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ค่าเงินเยนยังถูกกดดันหลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ว่าที่ประชุมมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไว้ใกล้ระดับศูนย์ พร้อมกับคงขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ในปริมาณมาก พร้อมระบุว่ากรรมการ BOJ ได้หารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยจากปัจจัยข้างต้นทำให้ในสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนอ่อนค่าไปแตะระดับที่อ่อนค่าสุดในรอบสัปดาห์และถือเป็นระดับอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ที่ระดับ 109.49 เยน/
ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์เคลื่อนไหวระหว่าง 108.18-109.49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (8/11) ที่ระดับ 109.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ