กบข. ประเมินทิศทางตลาดทุนปี’63 ยังผันผวน วางเป้าผลตอบแทนโต 4-5%

กบข. ประเมินทิศทางตลาดทุนปี’63 ยังผันผวน วางเป้าผลตอบแทนโต 4-5% ส่วนปีนี้หวังทำได้ 5% พร้อมเดินหน้ายกระดับการลงทุน ร่วมมือธนาคารโลก ทำแผนลงทุนคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม -สังคม-ธรรมาภิบาล

นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า ภายหลังร่วมลงนามกับธนาคารโลก ในโครงการความร่วมมือทางเทคนิคด้านการบริหารเงินทุนเพื่อความยั่งยืนระหว่างกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ว่า ในปี 2562 นี้ ได้คาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนของ กบข. ว่าจะเติบโต อยู่ที่ระดับ 5% และคาดว่าในปี 2563 ผลตอบแทนจากการลงทุนจะอยู่ที่ 4-5% เนื่องจากประเมินทิศทางตลาดทุนแล้ว ยังมีความผันผวนอยู่ อย่างไรก็ดี กบข. ยังเน้นเรื่องความสม่ำเสมอของผลตอบแทนเป็นหลัก

ขณะที่ปัจจุบัน กบข. มีเม็ดเงินในการลงทุนทั้งสิ้น 9.5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย เงินสำรองของรัฐ 5 แสนล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นเงินจากสมาชิก ส่วนการจัดสรรการลงทุนนั้น แบ่งเป็น การลงทุนในตราสารหนี้ 65% การลงทุนในตราสารทุน 20% และการลงทุนทางเลือก 13-14%

ทั้งนี้ นายวิทัย ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการความร่วมมือทางเทคนิคด้านการบริหารเงินทุนเพื่อความยั่งยืนระหว่างกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ว่า ความร่วมมือดังกล่าวคือเพื่อยกระดับกระบวนการลงทุนของ กบข. ที่ได้มีการนำปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social & Governance: ESG) มาผสานในกระบวนการลงทุนมาตั้งแต่ปี 2562 ให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับกองทุนบำนาญระดับโลก และสอดคล้องแนวปฏิบัติเพื่อการลงทุนอย่างรับผิดชอบของ PRI ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งโดยสหประชาชาติเพื่อจัดทำและส่งเสริมมาตรฐานดังกล่าว (The United Nations-supported Principles for Responsible Investment : PRI) และ กบข. ได้ร่วมเป็นสมาชิกในปี 2562 ทั้งนี้ กบข. และธนาคารโลกมีเป้าหมายร่วมกันที่จะให้ กบข. เป็นต้นแบบ “กรณีศึกษาต้นแบบ” (Showcase) ของกองทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการบริหารจัดการเงินลงทุน โดยใช้ปัจจัยด้าน ESG อย่างเต็มรูปแบบ นายวิทัยฯ กล่าว

สำหรับรายละเอียดลักษณะความร่วมมือนั้น นายวิทัยฯ กล่าวว่า มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ ดังนี้

1. การจัดทำแผนกลยุทธ์การลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัย ESG
2. การนำปัจจัย ESG มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการบริหารจัดการลงทุนของ กบข. รวมถึงการพัฒนาระบบคะแนนด้านความยั่งยืน (ESG Scoring System) เพื่อใช้ในการประเมินมูลค่าตราสารทุนและตราสารหนี้ในการลงทุน
3. การจัดทำแนวทางนำปัจจัย ESG มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการสรรหาผู้จัดการกองทุนภายนอก และ
4. การจัดทำกรอบการกำกับ ติดตาม และจัดทำรายงานผลการดำเนินกลยุทธ์การลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัย ESG มาใช้ของ กบข.