“สมคิด” จี้ สภาพัฒน์ฯ แอ็กทีฟดูแลเศรษฐกิจ ฝากการบ้าน 4 ข้อเร่งผลักดัน

“สมคิด” จี้ สภาพัฒน์ฯ แอ็กทีฟดันโครงการให้เกิดตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ให้เกิดขึ้นจริง จัดลำดับความสำคัญโครงการ พร้อมฝากการบ้าน 4 เรื่อง โครงการเชื่อมโยง EEC-ความเหลื่อมล้ำ-เอสเอ็มอี-สร้างคน เน้นใช้กลไกครม.เศรษฐกิจ-กรอ.ช่วยผลักดัน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในโอกาสตรวจเยี่ยมและประชุมหารือแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2563 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ ว่า ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่มีอยู่จะทำอย่างไรให้สิ่งที่เขียนอยู่ในแผนฯ เกิดขึ้นจริง และเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยใช้กลไกที่มีอยู่ทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ในการผลักดันโครงการต่างๆ ออกมา โดยจัดลำดับความสำคัญของโครงการ ซึ่งงบประมาณจะเกิดขึ้นตามสิ่งที่วางไว้

ทั้งนี้ จึงอยากจะฝากการบ้านไว้ 4 เรื่อง สำคัญให้ช่วยกันเร่งผลักดันและขับเคลื่อนโครงการออกมา โดย 1.โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ขาเดียว ซึ่งปีนี้ต้องการเห็นร่างต่างๆ สามารถเดินต่อไป โดยเฉพาะโครงการที่เชื่อมโยงกับ EEC เช่น พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) เขตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ล้านนา (LCC) หรือ เขตพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (BEC) เป็นต้น โดยชาวบ้านจะต้องได้รับอานิสงส์ และสามารถกระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำจะทำเป็นรูปธรรมได้อย่างไร จะโฟกัสทำอะไร เมื่อไร และอย่างไรให้ชัดเจน

และ 2.การพัฒนาความเหลื่อมล้ำ แม้ว่าตอนนี้โครงการกำลังเดินหน้าแล้ว แต่อยากให้คิดเป็นแพ็กเกจ ไม่ได้เป็นชิ้นๆ และต้องร่วมกันคิด ไม่ใช่ต่างคนต่างคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชนบทมีความเข้มแข็ง และทำผ่านสิทธิพิเศษผ่านบีโอไอ ซึ่งไม่ดึงเฉพาะเอกชนรายใหญ่ที่มีแค่ 1-2 เจ้า แต่ให้รายอื่นเข้าไปมีส่วนร่วม และจะใช้กลไกอะไรที่ดึงให้มาร่วม โดยเป็นหน้าที่ของสภาพัฒน์ฯ ที่จะเติมหรือใช้โมเดลอะไรผลักดันให้เกิด ซึ่งอาจจะจ้างเด็กลงไปสำรวจทำเซอร์เวย์ข้อมูลว่าอุปสรรคคืออะไร และส่งให้กรุงไทยเป็นกลไก หรือจะเอาฝ่ายไหนเข้ามาช่วยมาเติม เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แม้ไม่เป็นตัวที่ทำให้โครงการเกิด แต่สามารถปล่อยสินเชื่อได้เป็นแสนล้านบาท ทำให้เวลาเสนอของบประมาณจะได้มีโครงการสอดคล้องกัน

เรื่องที่ 3.เอสเอ็มอี ซึ่งมีการประชุมไปแล้วกับการเงิน โดยอยากให้สภาพัฒน์ฯ เข้าไปร่วมหารือกับเขา โดยแบ่งเป็นขั้นตอนว่าให้เอสเอ็มอีหลุดจากภาวะหนี้ และอยู่ได้ และทำให้เข้มแข็ง และเปลี่ยนเอสเอ็มอี ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะต้องช่วยวางแผน โดยเรียกสสว.กลับมาหารือร่วมกัน ซึ่งหลังจากเปิดครม.จะมีแพ็กเกจที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีผ่อนคลายได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ จะทำให้เอสเอ็มอีเหล่านี้แข็งแรงได้อย่างไร ไม่ใช่แค่ช่วยซัพพลายเชนเอสเอ็มอี แต่มีที่เป็นสแตนอะโลนด้วย ซึ่งใครเก่งนี้เรื่องของสภาพัฒน์ฯ ก็ให้ดูตรงนี้

และ 4.เรื่องคน เป็นหน้าที่หลักของสภาพัฒน์ฯ และหน่วยงานกระทรวงการศึกษาต้องเดินตามสภาพัฒน์ฯ โดยจะต้องศึกษาร่วมกันว่าจะมีอะไรใหม่ๆ มาสร้างคนใน EEC และในทุกอย่างจะสร้างคนอย่างไร ซี่งต้องมีคณะทำงานใหม่ๆ มาช่วยกัน

“3-4 เรื่องที่ฝากไว้เป็นเรื่องที่อยู่ในแผนฯ ของท่านไว้หมดแล้ว คำถามคือว่าเราจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราเขียนขึ้นมาเกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ คนสภาพัฒน์ฯ ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเราทำเพื่ออะไร ซึ่งต่อจากนี้เราอยากเห็นคนสภาพัฒน์ฯ เป็นคนที่แอ็กทีฟ มีช่องว่างตรงไหนหยิบขึ้น และงานมันก็จะเดิน และเรื่องหลักๆ จะต้องทำให้ได้ก่อน เพราะในภาวะแบบนี้มีท่านเป็นกระดูกสันหลังของชาติ หากไม่ทำให้เกิดก็ไม่มีกระดูกสันหลัง”