ถอดบทเรียนเมย์แบงก์-หยวนต้า วัฏจักรสงครามแย่งชิงมาร์เก็ตติ้ง

คนที่อยู่ในแวดวงการลงทุนมานานต่างก็รู้ดีว่า ประเด็น “การแย่งตัวมาร์เก็ตติ้ง” หรือที่ถูกบัญญัติในชื่อใหม่ว่า “ผู้แนะนำการลงทุน” ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมาก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการ “เปิดตัวโบรกเกอร์น้องใหม่” ขึ้นในอุตสาหกรรม ! ทำไมเหตุการณ์แบบนี้ถึงเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรอย่างซ้ำซาก ?

ย้อนอดีตไปเมื่อไม่นานมานี้ ประมาณปี 2557 หลายคนคงยังพอจำได้ว่า ช่วงนั้นมีบริษัทหลักทรัพย์น้องใหม่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน 3 แห่ง คือ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน) หรือ “APPLE” บล.เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ “AEC” และ บล.เอเชีย เวลท์ จำกัด หรือ “AWS” ซึ่งสถานการณ์ตอนนั้นก็เป็นอย่างที่ทุกคนได้รับทราบ คือเกิดภาวะแย่งตัวมาร์เก็ตติ้งอย่างมาก

โดยนับจากที่ 3 โบรกฯน้องใหม่ได้เริ่มทำธุรกิจเพียงแค่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ก็มียอดมาร์เก็ตติ้งพุ่งขึ้นสูงสุด 3 อันดับแรกของอุตสาหกรรมทันที หลังจากนั้นก็มีโบรกฯใหม่ทยอยเปิดตัวมาอีกระลอก ช่วงปลายปี 2557-2558 คือ บล.เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ จำกัด “SBITO” และ บล.เอเอสแอล จำกัด “ASL” แต่เนื่องจากทั้งสองโบรกฯเน้นทำธุรกิจแบบ “ดิสเคานต์โบรกเกอร์” ซึ่งเน้นให้นักลงทุนเทรดออนไลน์ผ่านโปรแกรม โดยคิดค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นระดับต่ำ จึงทำให้ไม่ได้มีปัญหาการแย่งตัวมาร์เก็ตติ้งจวบจนกระทั่งล่าสุดปมร้อนการเปิดศึกแย่งชิงมาร์เก็ตติ้งกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เนื่องจากโบรกเกอร์น้องใหม่ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ที่เพิ่งเปิดตัว โดยมี “บุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์” เข้าไปเป็นแม่ทัพ รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารนั้น มีลูกน้องมาร์เก็ตติ้ง

จากที่ทำงานเดิมใน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ติดสอยห้อยตามมาเป็นจำนวนกว่า 200 คน ทำให้ บล.เมย์แบงก์ฯเสียหลัก ต้องปิดบางสาขาลงไป และมากไปกว่านั้นคือ จะต้องเสียส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) จากลูกค้าที่ย้ายตามไปด้วย

ต้นเหตุแย่งชิงมาร์เก็ตติ้ง

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ชี้ว่าแม้ปัจจุบันเจ้าหน้าที่การตลาดในระบบ (ที่มีใบอนุญาต) จะมีทั้งสิ้น 68,090 คน และในจำนวนดังกล่าวมีการแจ้งปฏิบัติหน้าที่แล้วถึง 54,741 คน

แต่ทั้งหมดที่ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในโบรกเกอร์มีจำนวนเพียง 10,456 คน (ไม่รวมธนาคารและบริษัทประกัน) ดังนั้นด้วยจำนวนมาร์เก็ตติ้งที่มีประสบการณ์ยังมีอยู่อย่างจำกัด สวนทางกับภาวะที่นักลงทุนที่เพิ่มขึ้น จำนวนโบรกฯที่เพิ่มขึ้น จึงไม่แปลกที่จะเกิดสงครามการแย่งชิงมาร์เก็ตติ้งมาโดยตลอด

จุดตัดหยวนต้า-เมย์แบงก์

กระบวนการนับจากนี้ ผู้บริหารของ บล.เมย์แบงก์ได้เคยระบุไว้ว่า จะดำเนินการฟ้องศาลแพ่ง ศาลแรงงาน กับอดีตผู้บริหาร และอดีตพนักงาน ซึ่งทำผิดตามหลักเกณฑ์ของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (สมาคมโบรกฯ) ในเรื่องการย้ายจำนวนมาร์เก็ตติ้ง และให้ผลตอบแทนสูงกว่าที่เกณฑ์กำหนด ขณะที่ฝั่ง บล.หยวนต้า แม้ขณะนี้จะยังเก็บตัว โดยไม่ขอให้ข้อมูลใด ๆ แต่ก็เคยได้ชี้แจงผ่านอีเมล์ไปยังสื่อสำนักต่าง ๆ ในทำนองที่ว่า “ผู้บริหารของ บล.หยวนต้าทุกคน พร้อมที่จะนำข้อเท็จจริงต่อสู้คดีอย่างแน่นอน”

ดังนั้นหากไม่มีใครยอมถอย สมาคมโบรกฯไม่สามารถเป็นกาวใจได้ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นมาไกลเกินกว่าจะประสานรอยร้าว ในที่สุดทั้งสองโบรกฯนี้จะต้องต่อสู้และปวดหัวกับประเด็นนี้ จนกว่ากระบวนการศาลจะพิจารณาเสร็จ

ดีบีเอสฯม้ามืดชิงมาร์เก็ตแชร์

จากภาวะฝุ่บตลบที่เกิดขึ้น “ประชาชาติธุรกิจ” พบว่า สัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ของ บล.ได้เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น โดยบล.เมย์แบงก์ฯ ที่เคยครองแชมป์อันดับ 1 มาหลายยุคหลายสมัย ได้เริ่มเพลี่ยงพล้ำ เห็นได้จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่เปิดเผยรายชื่อแชมป์ใหม่ อย่าง “บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)” ซึ่งเบียด บล.เมย์แบงก์ฯร่วงลงตั้งแต่เดือน เม.ย. 2560 แล้ว และปัจจุบัน (5 ก.ค. 2560)บล.ดีบีเอสฯมีมาร์เก็ตแชร์ที่ 7.46% ขณะที่ บล.บัวหลวง ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 โดยมีมาร์เก็ตแชร์ 6.25% และ บล.เมย์แบงก์ฯ 5.62%

โดย “ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอสฯ อธิบายว่าการที่มาร์เก็ตแชร์ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการนำ Algorithmic Trading (Algo Trading) ซึ่งเป็นการสร้างระบบคำสั่งซื้อขายแบบอัตโนมัติผ่านอินเทอร์เน็ต ที่นักลงทุนสามารถกำหนดได้ว่าจะซื้อหรือขาย ในราคา,จำนวนเท่าไหร่ และระยะเวลาใดมาให้บริการตั้งแต่ปลายปี 2559 ทำให้นักลงทุนสถาบันต่างประเทศเข้ามาใช้บริการสูงขึ้นอย่างมาก และหนุนมาร์เก็ตแชร์เกินกว่าที่คาดหมาย

แน่นอนว่าหากวัดกันในระยะครึ่งแรกของปี 2560 บล.เมย์แบงก์ฯอาจจะยังมีมาร์เก็ตแชร์สูงเป็นอันดับ 1 อยู่ แต่หลังจากนี้สถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างถาวรหรือไม่ คงต้องจับตาดูเพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องมาร์เก็ตติ้งที่จะต้องต่อสู้กัน แต่ภาวะตลาดที่แกว่งแคบ ปริมาณซื้อขายลดลงต่างหาก ที่เป็นปัจจัยที่น่ากลัวในสถานีถัดไป