จับตาทิศทางราคาน้ำมันปี 2563…นัยต่อการส่งออกของไทย

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก
โดย ขวัญใจ เตชเสนสกุล EXIM BANK

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับต่ำตลอดทั้งปี 2562 ซึ่งบั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่หลายประเทศที่ทยอยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ไม่ว่าจะเป็นซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ เวเนซุเอลา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 มีหลายเหตุการณ์ที่น่าจับตามอง ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ได้แก่

“การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ของ Saudi Aramco” เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2562 ที่เป็นวันแรกที่หุ้น Saudi Aramco รัฐวิสาหกิจน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบียเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งคาดหมายกันว่าจะสามารถระดมทุนได้สูงที่สุดในโลกราว 25.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าตอนที่บริษัท Alibaba เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กปี 2557 ทั้งนี้ การเข้าตลาดหุ้นของ Saudi Aramco ถือเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญของซาอุดีอาระเบีย และมีนัยต่อตลาดน้ำมันของโลกค่อนข้างมาก เนื่องจากซาอุดีอาระเบียจำเป็นต้องพยุงราคาน้ำมันเพื่อรักษามูลค่าตลาดของ Saudi Aramco โดยการประชุม OPEC+ ครั้งที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียสามารถโน้มน้าวให้ชาติสมาชิกปรับลดกำลังการผลิตรวมกันได้ถึง 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ขณะเดียวกัน ซาอุดีอาระเบียก็ประกาศว่าพร้อมที่จะลดกำลังการผลิตของตนเองลงอีก 4 แสนบาร์เรลต่อวันหากมีความจำเป็น ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นถึงราว 3% ภายใน 1 วันหลังการประชุม

อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปต้องจับตามองว่าซาอุดีอาระเบียซึ่งมีกำลังการผลิตราว 33% ของกลุ่ม OPEC จะสามารถพยุงราคาน้ำมันผ่านกลยุทธ์ข้างต้นได้มากน้อยเพียงใด ท่ามกลางอุปทานน้ำมันของสหรัฐที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

Advertisment

“การเร่งหาสมาชิกทดแทนของกลุ่ม OPEC” ในช่วงที่ผ่านมากลุ่ม OPEC ดูจะมีบทบาทน้อยลงในเวทีน้ำมันโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากหลายชาติทยอยออกจากการเป็นสมาชิกด้วยเหตุผลต่างกัน อาทิ กาตาร์ออกจาก OPEC เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2562 ส่วนหนึ่งเกิดจากถูกชาติอาหรับคว่ำบาตรเรื่องสนับสนุนการก่อการร้าย และล่าสุดเอกวาดอร์ก็ออกจากการเป็นสมาชิกในวันที่ 1 ม.ค. 2563 เนื่องจากต้องการเพิ่มรายได้จากการส่งออกน้ำมันและไม่ต้องการปรับลดกำลังการผลิตตามมติของกลุ่ม ปัจจัยดังกล่าวทำให้ OPEC เร่งดำเนินแผนที่จะหาสมาชิกเข้ามาทดแทนเพื่อดึงบทบาทของตนกลับมาอีกครั้ง ล่าสุดซาอุดีอาระเบียได้ส่งเทียบเชิญบราซิลเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อบทบาทของกลุ่ม OPEC ในการกำหนดราคาน้ำมันผ่านมาตรการปรับเพิ่มหรือลดกำลังการผลิต เนื่องจากบราซิลถือเป็นผู้ผลิตน้ำมัน top 10 ของโลก โดยมีกำลังการผลิตที่ราว 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของการผลิตทั้ง OPEC

“มาตรฐาน IMO 2020 หนุนราคาน้ำมัน” วันที่ 1 ม.ค. 2563 องค์การทางทะเลระหว่างประเทศเริ่มบังคับใช้มาตรการ IMO 2020 ที่ให้เรือทั่วโลกเปลี่ยนการใช้น้ำมันเตากำมะถันสูง 3.5% มาเป็นไม่เกิน 0.5% เพื่อลดมลพิษ ซึ่งทางเลือกระยะสั้นของผู้ประกอบการเดินเรือ คือ เปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซลซึ่งมีค่ากำมะถันต่ำกว่าเกณฑ์ข้างต้น ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าน้ำมันดีเซลในโลกจะขาดแคลนหลายแสนบาร์เรลต่อวัน ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้โรงกลั่นน้ำมันทั่วโลกมีความต้องการน้ำมันดิบมากขึ้นเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันดีเซล ซึ่งอาจช่วยดูดซับอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินของโลกได้ส่วนหนึ่ง

แม้ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมาจะส่งผลดีต่อประเทศผู้นำเข้าน้ำมันอย่างไทย โดยเฉพาะผู้บริโภคที่จะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับลดลง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อาทิ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง คิดเป็นสัดส่วนราว 18% ของมูลค่าส่งออกรวม โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวหดตัวถึง 10% ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ฉุดให้มูลค่าส่งออกโดยรวมหดตัว

ขณะเดียวกัน หากพิจารณามูลค่าส่งออกของไทยไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ พบว่า หดตัวทุกประเทศ โดยในช่วง 10 เดือนแรกปี 2562 มูลค่าส่งออกของไทยไปยังตะวันออกกลางและรัสเซีย (คิดเป็นสัดส่วนราว 4% ของมูลค่าส่งออกรวม) หดตัว 3.7% และ 16.8% ตามลำดับ

Advertisment

จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK