แบงก์เร่งรื้อเกณฑ์ “ดอกเบี้ยผิดนัด” ขอ 3 เดือนปรับไอที-ธปท.บี้เปิดเผยต้นทุน

ธปท.ออกหนังสือเวียนแจ้งแบงก์เร่งปรับระบบไอที รองรับแนวทางคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระแบบใหม่ ภายใน 1 พ.ค.นี้ สร้างมาตรฐานกลางตีกรอบ “คำนวณอัตราดอกเบี้ยแท้จริงต่อปี-ตัดหนี้เน้นลดเงินต้น” ฟากแบงก์ชี้กระทบรายได้ค่าฟี “กสิกรไทย” ประเมินรายได้วูบ 400 ล้านบาท “เกียรตินาคิน” เผยรายได้ค่าฟีเข้าข่ายได้รับผลกระทบ 3 ล้านบาทต่อเดือน ด้าน “ไทยพาณิชย์” ชี้สินเชื่อ 3 กลุ่ม “สินเชื่อเอสเอ็มอี-สินเชื่อบุคคล-สินเชื่อที่อยู่อาศัย” กระทบมากสุด

นายจงรัก รัตนเพียร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับปรุงการคิดค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) และอัตราดอกเบี้ยตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น เรื่องดอกเบี้ยผิดนัดชำระ และ ค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด (prepayment charge) จะกระทบมากที่สุด ซึ่งน่าจะทำให้รายได้ค่าฟีของแบงก์หายไปราว 1% ของรายได้ค่าฟีทั้งหมดที่อยู่ที่ราว 4 หมื่นล้านบาท หรือราว 400 ล้านบาท

“รายได้กระทบอยู่แล้ว โดยเราไม่ได้มองรายได้เหล่านี้เป็นรายได้หลักอยู่แล้ว แต่มีไว้เพื่อให้ลูกค้าได้ตระหนักถึงการชำระหนี้ตรงต่อเวลา” นายจงรักกล่าว

นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ระบบไอทีเพื่อรองรับการปรับเกณฑ์คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระใหม่มีความซับซ้อน จึงต้องใช้ระยะเวลา แต่น่าจะเร่งได้ทันภายในเดือน พ.ค.นี้ โดยรายได้ค่าฟีของแบงก์ถูกกระทบไม่มาก เนื่องจากเป็นธนาคารขนาดเล็ก และมีพอร์ตสินเชื่อที่เข้าข่ายไม่สูงมาก โดยเฉลี่ยแล้วมีรายได้ที่เข้าข่ายประมาณ 3 ล้านบาทต่อเดือน อย่างไรก็ดี แม้ว่าไม่สูงมาก แต่ก็เป็นความท้าทายที่ธนาคารจะต้องหารายได้อื่นมาชดเชย

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การปรับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดและค่าฟีใหม่ จะมีผลกระทบต่อรายได้ค่าฟีของแบงก์แน่นอน ซึ่งตอนนี้แบงก์อยู่ระหว่างการเก็บตัวเลขรายได้ที่หายไป

“ค่าฟีส่วนที่กระทบเยอะ จะเป็นดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ซึ่งจะใช้ในกลุ่มสินเชื่อที่มีระยะเวลาผ่อนชำระ เช่น สินเชื่อเอสเอ็มอี สินเชื่อบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย ส่วนสินเชื่อรถยนต์จะไม่มีผลกระทบ เพราะคิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (fixed rate) ส่วนค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด ธนาคารไม่ได้คิดอยู่แล้ว จึงไม่น่ากระทบมากนัก”

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกหนังสือเวียนเรื่อง ซักซ้อมการคิดค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ย เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันการเงินได้ปรับระบบไอที รองรับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 พ.ค.2563 นี้ อาทิ แนวทางการคำนวณแบบอัตราดอกเบี้ยแท้จริงต่อปี (annualised percentage rate : APR) จากที่ปัจจุบันธนาคารจะใช้การคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่คิดกับผู้กู้ที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 2 แบบ คือ คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ค่าฟีสูง หรือบางแห่งคิดดอกเบี้ยสูง แต่ค่าฟีต่ำ

ธัญญนิตย์ นิยมการ

“ธปท.ต้องการให้ธนาคารคำนวณ APR ออกมาได้เลย เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถทราบต้นทุนที่ใช้บริการ สามารถเปรียบเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่นได้ สำหรับใช้ในการตัดสินใจ” นางธัญญนิตย์กล่าว

ทั้งนี้ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระนั้น กำหนดแนวทางคือให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานเงินต้นของค่างวดที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ (ทุกงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ) ตราบเท่าที่สัญญายังมีผลผูกพัน จนกว่าผู้ให้บริการจะบอกเลิกสัญญา ซึ่งการบอกเลิกสัญญาควรมีระยะเวลาที่ลูกหนี้ค้างชำระหนี้ไม่ต่ำกว่า 90 วัน และกรณีลูกหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ตามแนวทางนี้ด้วย

โดย ธปท.ได้ขอให้ผู้ให้บริการสื่อสารให้พนักงานสาขารวมทั้ง call center ทราบโดยทั่วถึงและปฏิบัติให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน

นอกจากนี้ ภายในกลางปี 2563 ธปท.จะออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าฟีใหม่ให้ผู้ให้บริการนำไปใช้กับสินเชื่อที่มีการคิดดอกเบี้ยและค่าฟีที่มีการชำระแบบรายงวดและสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ธปท.ยอมรับว่าแนวทางการปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าฟีที่ออกมาค่อนข้างมีผลกระทบต่อรายได้ของธนาคาร แต่เป็นสิ่งที่ ธปท.ต้องการทำ ให้เกิดความเป็นธรรมกับลูกค้า และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เป็นไปแนวทางเดียวกันทุกธนาคาร

“แบงก์ขอเวลา 3 เดือนในการปรับระบบไอทีใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่หลักคิดเกี่ยวกับการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และเมื่อแบงก์จะปรับระบบไอทีแล้ว จึงอยากให้ ธปท.ชี้แจงว่า จะต้องมีปรับอะไรเพิ่มเติม จึงเป็นที่มาของหนังสือเวียนที่ออกมานี้ โดยในอนาคต ธปท.จะให้แบงก์นำหลักการนี้ไปใช้ในสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ด้วย” นางธัญญนิตย์กล่าว