เศรษฐกิจไทยเสี่ยงสูง-ส่อถดถอย สภาพัฒน์จี้รัฐกระตุ้นเพิ่ม-เร่งเบิกจ่าย

เศรษฐกิจไทยปี 2563 ส่อเค้าไม่ดีตั้งแต่ต้นปี แค่เดือนแรกก็ต้องเผชิญสารพัดปัจจัยลบที่ประดังเข้ามา กระทั่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตั้งแต่ประชุมนัดแรกของปีมาอยู่ที่ระดับ 1% ต่อปี เนื่องจากกังวลสัญญาณหนี้เสียของภาคธุรกิจที่มากขึ้น

ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะโตเพียง 1.5-2.5% ต่อปี ค่าเฉลี่ยที่ 2% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.2%

สภาพัฒน์ลุ้นเศรษฐกิจปี”63 โต 2%

“ทศพร ศิริสัมพันธ์” เลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้ 1.5-2.5% ภายใต้สมมุติฐานว่าเศรษฐกิจโลกจะต้องไม่ต่ำกว่า 3.2% ส่งออกต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่า 2% และการระบาดของไวรัสโควิด-19 จบลงภายใน พ.ค. 2563 โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาที่ 37 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ 1.73 ล้านล้านบาท ขณะที่ภัยแล้งไม่กระทบผลผลิตภาคเกษตรเกิน 5% และไม่ลามไปภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการเบิกจ่ายงบฯต้องทำให้ได้ 91.2% โดยเฉพาะงบฯลงทุนต้องเบิกจ่ายให้ได้ 65% ซึ่งมีความเป็นไปได้ เพราะสำนักงบประมาณได้ให้เตรียมการจัดซื้อจัดจ้างไว้พร้อมแล้ว

“ถ้าเป็นไปตามนี้เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะโตได้ไม่ต่ำกว่า 2% น่าจะเริ่มฟื้นขึ้นได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา คือ การระบาดของไวรัสที่หากจบช้ากว่าที่คาด ภัยแล้งรุนแรงขึ้น รวมถึงหากมีความผันผวนด้านเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่”

สำหรับไตรมาส 4/2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.6% ทำให้ปี 2562 ขยายตัวเพียง 2.4% ซึ่งเป็นการย่อตัวลงตามปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะการที่งบประมาณปี 2563 ล่าช้า ซึ่งทำให้ลงทุนภาครัฐ “ติดลบ” ตลอดจนปัญหาภัยแล้ง ค่าเงินบาทที่แข็งค่า และผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐกับจีน

ไวรัสโควิด-19 ทุบจีดีพีไทยอย่างน้อย 1%

“วิชญายุทธ บุญชิต” รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวเสริมว่า การประมาณการจีดีพีปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 2% เป็นการเติบโตลดลงต่อเนื่องจากปีก่อนที่โต 2.4% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยสภาพัฒน์ประเมินผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เทียบเคียงกับโรคซาร์ส คาดว่าจะกระทบนักท่องเที่ยวปีนี้ลดลง 4.8 ล้านคน จากที่ประมาณการไว้เดิม หรือเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 39.8 ล้านคน ปีนี้จะหายไป 2.8 ล้านคน และกระทบรายได้ท่องเที่ยว 1.5 แสนล้านบาท

“ในประมาณการใส่ไปแล้วว่าไวรัสมีผลทำให้จีดีพีหายไป 1% แต่ถ้าระบาดต่อเนื่องเป็น 2 ไตรมาส ผลกระทบก็คงจะเพิ่มขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ปีนี้การส่งออกน่าจะได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว รวมถึงนโยบายการเงินของประเทศต่าง ๆ ที่ยังคงผ่อนคลายในปีนี้ หากไวรัสโควิด-19 ไม่ลุกลามเกิน 4 เดือนก็น่าจะไม่กระทบเศรษฐกิจโลกมากนัก

ไทยยังไม่มีภาวะเศรษฐกิจถดถอย

“วิชญายุทธ” กล่าวว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกอาจจะโตต่ำ แต่คงไม่ถึงกับติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) แต่อาจจะติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ซึ่งยังไม่ถือว่าถดถอยเชิงเทคนิค เพราะยังไม่ได้ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน และคาดว่าไตรมาส 2 เศรษฐกิจมีแนวโน้มเป็นบวกจึงไม่น่าจะเกิดภาวะถดถอย

“การถดถอยที่น่ากลัวก็คือ ถ้าเกิดจีดีพีติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาสแล้วมองไปข้างหน้าไม่เห็นการฟื้นตัว แต่กรณีของไทยเห็นอยู่ว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวเมื่อนักท่องเที่ยวกลับสู่ภาวะปกติจีดีพีก็จะไม่ติดลบ แต่ถ้าโควิด-19 ระบาดไปถึงไตรมาส 3 ก็คงถดถอยจริง แต่อย่าเพิ่งไปมองถึงขนาดนั้น”

แนะรัฐบาลประสานกำลังแก้ปม ศก.

นอกจากนี้ เลขาธิการสภาพัฒน์ เสนอแนะว่า การบริหารเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีนี้จะต้องเร่งประสานนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง และเร่งกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวหลัง 3 เดือนแรกได้รับผลกระทบจากไวรัส ขณะที่การส่งออกก็ต้องทำให้โตไม่ต่ำกว่า 2% โดยพยายามหาโอกาสส่งออกแทนตลาดจีนที่มีปัญหาช่วงนี้ และต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในซัพพลายเชนส่งออก ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ต้องเร่งเบิกจ่ายงบฯทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

“หลาย ๆ ปัจจัยเราควบคุมไม่ได้ เพราะเป็นปัจจัยภายนอก แต่การเบิกจ่ายสามารถควบคุมได้โดยเฉพาะโครงการสำคัญ ๆ ของกระทรวงคมนาคมที่ยังล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย รถไฟไทย-จีน หน่วยงานต่าง ๆ ต้องร่วมมือกัน ส่วนแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องมีออกมาเพิ่มเติม”

ธปท.คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นปี”64

ขณะที่ “ดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากที่สภาพัฒน์ประมาณการจีดีพีปี 2563 ต่ำกว่าที่ ธปท.ประเมินสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวแรง ซึ่งเป็นผลกระทบของภัยแล้ง-ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณที่กระทบการใช้จ่ายภาครัฐมากกว่าคาด และการระบาดของไวรัสเป็นปัจจัยใหม่ที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย

ธปท.จะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ในวันที่ 25 มี.ค. 2563 เบื้องต้นคาดว่าผลกระทบจากการระบาดของไวรัสจะรุนแรงที่สุดในไตรมาสแรก ก่อนที่จะทยอยดีขึ้นหลังสถานการณ์คลี่คลาย และเศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวเกิน 3% ได้อีกในปี 2564 หากไม่มีปัจจัยลบอื่นเพิ่มเติม

“นริศ สถาผลเดชา” ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกมีแนวโน้มหดตัว 2% เนื่องจากแรงส่งไตรมาส 4/2562 ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าคาด บวกกับปัจจัยลบทั้ง “ไวรัส-งบฯล่าช้า-ภัยแล้ง” ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่เชื่อว่าจะไม่ถึงขั้นภาวะถดถอย เพราะไตรมาส 2 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการปลดล็อกงบประมาณและมาตรการรัฐพยุงเศรษฐกิจ

“กรุงศรี” ชี้เศรษฐกิจเสี่ยงถดถอย

ขณะที่ “สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการจีดีพีปี 2563 โตแค่ 1.5% ภายใต้สมมุติฐานที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายการเงินนโยบายการคลัง และ กนง.มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งในการประชุมวันที่ 25 มี.ค.นี้ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างมากจึงต้องการแรงกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง

และจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่ำกว่าศักยภาพ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยกรุงศรีฯได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าสู่ภาวะถดถอย คือ ดัชนีชี้วัดส่วนต่างระหว่างผลผลิตและประสิทธิภาพการผลิต (output gap) จะต้องอยู่ระดับสูงกว่า 40% ซึ่งดัชนีในไตรมาส 4/2562 อยู่ที่ 44% แล้ว ทั้งนี้ต้องดูสถานการณ์ 2-3 เดือนข้างหน้าซึ่งคาดว่าไวรัสน่าจะจบได้ในเดือน พ.ค.เช่นเดียวกับภัยแล้ง และมีการลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ที่เปรียบเหมือนช่วยเติมน้ำมันเครื่องยนต์ และนโยบายการคลังเป็นตัวช่วยติดเครื่องยนต์