“ภากร” ชี้ตลาดหุ้นไทยภาคเช้าวันนี้ดิ่งแรง 36 จุด เกิดจาก Global Event เหตุผู้ติดเชื้อไวรัสในบางประเทศพุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด แนะกระจายสินทรัพย์ลงทุน เน้นหุ้นปันผลสูง บริษัทที่มีรายได้คงที่ ระวัง Fake News เชื่อไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการ “Circuit Breaker” ฝากปลดล็อค “พ.ร.บ.มหาชน” แก้กฎหมายประชุมผู้ถือหุ้นผ่าน E-Voting / E-Meeting / Teleconference ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นกฤษฎีกา แต่อาจจะไม่ทันปีนี้
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังปิดตลาดหุ้นไทยภาคเช้าวันนี้ (24 ก.พ.63) ถึงกรณีดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯปรับลดลงไปกว่า 36 จุด เปลี่ยนแปลงไป 2.42% สืบเนื่องจากความกังวลจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในบางประเทศมีการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด และมีความกังวลว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเกาหลีใต้และประเทศในแถบยุโรป ฉะนั้นเป็นความกังวลของ Macro Factor ไม่ได้ถูกกดดันจากปัจจัยในประเทศ โดยเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติคงเข้าใจเพราะเป็น Global Event
“หุ้นร่วงวันนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก กระทบทุกสินทรัพย์ ฉะนั้นการลงทุนที่ดีที่สุดคือ น่าจะเป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะผลกระทบไม่เท่ากัน ทุกครั้งที่มีวิกฤตจะมีโอกาสเสมอ ฉะนั้นควรเน้นหุ้นที่ปันผลสูง รายได้คงที่ ซึ่งน่าจะเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุน และให้ระวังข่าวปลอม (Fake News) ตลาดมีความผันผวน เด้งขึ้นเด้งลงตลอด” นายภากรกล่าว
หลังจากนี้มองว่าตลาดหุ้นไทยยังคงเผชิญความผันผวนตามจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หากมีผู้ติดเชื้อลดลงก็จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของทั่วโลก แต่เชื่อว่าในแต่ละเหตุการณ์ที่ตลาดหุ้นไทยเจอยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (Circuit Breaker) โดยตั้งแต่ต้นปีเกิดเหตุการณ์ผู้นำระดับสูงของอิหร่านถูกลอบสังหาร แรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน เผชิญงบประมาณของไทยล่าช้า และราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง พอเข้าสู่ต้นเดือน ก.พ.ความรุนแรงของไวรัสเริ่มระบาดไปทั่วโลก ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯยังควบคุมสถานการณ์ได้ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีธุรกิจหลักอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ทำหนังสือแจ้งขอผ่อนผันการนำส่งงบการเงินเพื่อพิจารณาเป็นรายกรณี ซึ่งเป็นการอะลุ่มอล่วยให้บริษัทได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯเองมีการออกกฎระเบียบภายในองค์กร ห้ามพนักงาน/ผู้บริหารบินไปต่างประเทศ แต่หากมีความจำเป็นต้องไปทำงาน จะมีกฎเกณฑ์และมาตรการออกมาป้องกันเพิ่มเติม
นอกจากนี้สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานกำกับอยากจะปรับปรุงและให้มีการบังคับใช้คือ E-Voting / E-Meeting / Teleconference ในการประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.มหาชน เบื้องต้นร่างกฎหมายยังอยู่ในชั้นกฤษฎีกาคาดว่าอาจจะไม่ทันปีนี้ แต่อยากจะให้ผ่านเพราะในต่างประเทศสามารถรองรับการประชุมผู้ถือหุ้นตามกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว เชื่อว่าจะเป็นเรื่องที่ดี