เปิดเหตุผล กนง. 4 เสียง ให้คงดอกเบี้ยแม้มองเศรษฐกิจหดตัวแรง

Veerathai Santiprabhob - file. Photographer: Brent Lewin/Bloomberg via Getty Images

เปิดเหตุผล กนง. 4 เสียง ให้คงดอกเบี้ยแม้มองเศรษฐกิจหดตัวแรง ชี้รอประเมินภาวะตลาดเงิน-การส่งผ่านนโยบายหลังลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน-ตุนกระสุน “Policy space” รับมือความไม่แน่นอนสูงระยะข้างหน้า

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ซึ่งในการประชุมนัดดังกล่าวมีกรรมการที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายวิรไท สันติประภพ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน นายคณิศ แสงสุพรรณ นายสุภัค ศิวะรักษ์ และ นายสมชัย จิตสุชน ส่วนนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (เข้าร่วมประชุมผ่าน video conference แต่ไม่ได้ร่วมลงมติ)

โดยรายงานว่า ภาวะตลาดการเงินนับจากการประชุมนัดพิเศษ (เมื่อ 20 มีนาคม) ภาวะตลาดการเงินไทย โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ปรับดีขึ้นหลังการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการประกาศมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นและบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยลดลงทันที หลังอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง และนักลงทุนบางส่วนชะลอการขายพันธบัตรรัฐบาลไทย หลัง ธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลง สอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดโลก หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ(Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจ สำหรับเงินบาทอ่อนค่าลงเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. หลังอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง ประกอบกับการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในไทยรุนแรงขึ้น
โดยการประชุมรอบนี้ กนง. เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนัดพิเศษก่อนหน้า รวมทั้งมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทยที่ได้ดำเนินการไปเอื้อให้ภาวะการเงินผ่อนคลายขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ย

เงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดลงและเสถียรภาพของตลาดการเงินไทยโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ปรับดีขึ้น กรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้รอประเมินการปรับตัวของตลาดการเงินและการลดอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินเพิ่มเติม และควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ให้พร้อมรองรับความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูงในอนาคต

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบของรัฐบาลที่ได้ประกาศไป และมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เป็นมาตรการที่แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า “กนง. จึงมีมติ4 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ต่อปี ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.75% เป็น 0.50% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมีความเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่หดตัวแรง”

ทั้งนี้ สำหรับภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อยังสอดคล้องกับภาพที่ได้ประเมินไปในการประชุมนัดพิเศษ โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงจากการระบาดของ COVID-19 เป็นสำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมมาก การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลงมาก และผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มหดตัวในทุกองค์ประกอบ ยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวแต่ต่ำกว่าที่คาดไว้จากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่าช้า

“กนง. จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัว 5.3% ในปี 2563 และคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ 3.0% ในปี 2564 หากการระบาดในไทยควบคุมได้ตามที่กระทรวงสาธารณสุขคาดและจำนวนนักท่องเที่ยวทยอยกลับมาฟื้นตัว และประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบ โดยคาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ – 1.0% และปี 2564 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยคาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.3% ตามราคาน้ำมันดิบ”

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าประมาณการเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมีความไม่แน่นอนสูงมาก โครงสร้างเศรษฐกิจการค้าของโลกและไทยจะเปลี่ยนแปลงไปหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย โดยเศรษฐกิจ
ไทยเผชิญความไม่แน่นอนจากทั้งต่างประเทศและในประเทศ ได้แก่

(1) การระบาดของ COVID-19 ที่อาจรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาด หรืออาจมีการคิดค้นวัคซีนและยารักษาได้เร็วกว่าที่คาด

(2) ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินโลกที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลาง

(3) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น และการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการเจรจาการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและยุโรปซึ่งยังมีความไม่แน่นอน (4) ความไม่แน่นอนของการใช้จ่ายภาครัฐ

ซึ่งอาจออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หรือมาตรการต่าง ๆ อาจมีผลน้อยกว่าที่คาด รวมถึง (5) ความเสี่ยงของภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าคาดส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตและรายได้ภาคเกษตร และไม่สามารถรองรับแรงงานที่ย้ายมาจากภาคอื่น ๆ ได้

คณะกรรมการฯ เห็นว่าความเสี่ยงในระบบการเงินโดยรวมมีความเปราะบางมากขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่หดตัวแรง ซึ่งส่งผลต่อรายได้ภาคครัวเรือนและธุรกิจ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้และคุณภาพสินเชื่อด้อยลง นอกจากนี้ สภาพคล่องในระบบการเงินตึงตัวมากขึ้นโดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ จึงเห็นควรให้ติดตามความเสี่ยงและจุดเปราะบางต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และให้ ธปท. เตรียมเครื่องมือเชิงนโยบายให้พร้อมใช้เพื่อดูแลระบบการเงินให้มีเสถียรภาพและมีความมั่นคงในสถานการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งประสานกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมดำเนินการเชิงรุกป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ

 

อ่านรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินฉบับเต็ม