บังคับใช้แล้ว! “พ.ร.ก.ตั้งกองทุนพยุงหุ้นกู้เอกชน” 4 แสนล้านบาท ตีกรอบคลังชดเชยความเสียหายไม่เกิน 4 หมื่นล้าน

แบงก์ชาติ ธปท. ค่าเงินบาท กนง.

บังคับใช้แล้ว! “พ.ร.ก.ตั้งกองทุนพยุงหุ้นกู้เอกชน” 4 แสนล้านบาท กำหนดตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด “กำกับ-ลงทุน” ตีกรอบ ธปท.ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรายเดียว เปิดช่องซื้อหุ้นกู้ตลาดรองได้ ขีดเส้นคลังชดเชยความเสียหายไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 เม.ย.2563) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทันที ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.2563 เป็นต้นไป และจะมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาขยายเวลาออกไปตามจำเป็น

โดยประกาศ ระบุ เหตุผลของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ คือ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ระบาดอย่างฉับพลันและรุนแรงทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จนกระทั่งองค์การอนามัยโลกต้องประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ที่เป็นทั้งช่องทางการระดมทุนอย่างสำคัญในการประกอบธุรกิจ การลงทุน และการออม ของประชาชน

ซึ่งการระบาดนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดคาดการณ์ได้ชัดเจนว่าจะยุติลงเมื่อใด เป็นผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทุกภาคส่วนทั่วโลกเกิดภาวะชะงักงันอย่างรุนแรงและฉับพลัน ผู้ประกอบการซึ่งระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ต้องประสบปัญหาขาดสภาพคล่องกะทันหัน ไม่สามารถไถ่ถอนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดและที่ใกล้จะครบกำหนดซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านบาทได้

สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มสูงมากที่จะทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นความเสี่ยงเชิงระบบที่กระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศและต่อประชาชนโดยรวม จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

ทั้งนี้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ประกอบด้วย 3 หมวด 21 มาตรา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะรักษาการตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้

โดยเนื้อหาสาระสำคัญ อาทิ จะมีการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้” มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยวิธีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่ ซึ่งระยะเริ่มแรกให้กองทุนมีวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งในระยะเริ่มแรกให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนแต่ผู้เดียว

ขณะเดียวกันกำหนดให้มี “คณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้” และ “คณะกรรมการลงทุน” พร้อมระบุถึงลักษณะของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุนจะลงทุนได้

ขณะเดียวกัน พ.ร.ก.ยังครอบคลุมถึงการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรอง ในกรณีที่ตลาดตราสารหนี้ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างร้ายแรง อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการรักษา

เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวม โดยกฎหมายให้อำนาจ ธปท. โดยความเห็นชอบของ รมว.คลัง มีอำนาจซื้อขายตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ไม่ใช่ตราสารหนี้ที่ออกใหม่ได้ด้วย

นอกจากนี้ พ.ร.ก.ยังกำหนดเรื่องการชดเชยความเสียหายให้แก่ ธปท. ไว้ด้วยว่า ในการดำเนินการของ ธปท. ตาม พ.ร.ก.นี้ ถ้ามีกำไรเกิดขึ้นให้ ธปท.นำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นแก่ ธปท.ให้กระทรวงการคลังชดเชยความเสียหายให้แก่ ธปท. ในวงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎหมายมีดังนี้ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/030/T_0012.PDF