แบงก์ลุย”ลดคน-ลดสาขา” เร่งยกเครื่องธุรกิจหลังโควิด

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นหนึ่งในธนาคารที่ปรับลดจำนวนพนักงานด้วยการเปิดโครงการ "จากด้วยใจ" โดยจะมีผลในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ทั้งนี้มีการประเมินว่าหลังสถานการ์ไวรัสโควิด-19 บรรเทาลง ธนาคารพาณิชย์จะมีการลดจำนวนพนักงานเพื่อรับมือกับการใช้ชีวิตหรือบริการในรูปแบบวิถีใหม่ หรือ new normal มากขึ้น

พิษโควิด-19 เขย่าอุตสาหกรรมแบงก์รอบใหม่ “กรุงศรีฯ-เคแบงก์” ประกาศเร่งปรับแผนธุรกิจรับมือ new normal “ตลาดเปลี่ยน-ลูกค้าเปลี่ยน” ปรับกลยุทธ์ใหม่ยกแผง ฉวยจังหวะเร่งสปีดดิจิทัลแบงกิ้งเทรนด์ “กู้ออนไลน์” มาแรง กสิกรฯชูตั้งทีม “Re-imagine” ประเมินภาพอุตสาหกรรมการเงินรับมือชีวิตวิถีใหม่ แบงก์หลังแอ่น “ธุรกิจอ่อนแรง-หนี้เสียพุ่ง” ทุบกำไรทรุดหนักเดินหน้า “ลดคน-ลดสาขา” “ทีเอ็มบี-ธนชาต” ยุบรวมสาขาในพื้นที่เดียวกัน

ปี’63 กำไรแบงก์วูบกว่า 50%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเป็นวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ แม้ว่าสถาบันการเงินจะไม่ใช่ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่สถาบันการเงินเป็นกลไกแบกรับผลกระทบ โดยเบื้องต้นสะท้อนได้จากผลประกอบการรวม 10 แบงก์พาณิชย์ ไตรมาส 1/63 มีกำไรสุทธิ 44,120 ล้านบาท ลดลง 18.38% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ผลประกอบการไตรมาสแรกของแบงก์ยังเห็นผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ไม่ชัด ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 2จะชัดเจนและลดลงมากกว่า 50% เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมหายไปหลายรายการ ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยลดลง รวมทั้งผลจากการพักชำระหนี้ช่วยลูกค้า รวมถึงหนี้เสีย (NPL) ก็ยังไม่นิ่ง และคาดว่าไตรมาส 3-4 ตัวเลขหนี้เสียยังคงปรับขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จะเหลือแค่หลักหมื่นล้านบาท จากปี 2562 อยู่ที่ราว 2.5 แสนล้านบาท หรือปรับลดลงไปมากกว่า 50%

กรุงศรีฯเร่งปรับแผนธุรกิจ

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างทำแผนธุรกิจใหม่ รองรับการเปลี่ยนแปลงหลังสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย โดยคาดว่าในเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ จะมีความชัดเจนระดับหนึ่งว่าทิศทางธุรกิจของแบงก์จะเปลี่ยนไปอย่างไร

“ตลาดหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงไป โดย market landscape จะหดตัวลง แต่ผู้เล่นใหม่ที่เข้าตลาดมาจะเหมือนเดิม และเรื่อง digital lending จะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายภาครัฐ ทำให้ลูกค้ามีความคุ้นชินในการใช้ดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้น ธนาคารต่าง ๆ ควรฉวยโอกาสตอนนี้ในการรุกดิจิทัลมากขึ้น โดยธนาคารจะต้องทำเรื่อง market segment ใหม่ วัดกำลังซื้อใหม่ ตลอดจนเตรียมโครงสร้างพื้นฐานระบบหลังบ้านและหน้าบ้าน ทั้งในส่วนของฟีเจอร์โมบายแบงกิ้งและกลยุทธ์การตลาดใหม่”

“เราเริ่มคิดแผนเกมใหม่ตั้งแต่ปลายปีก่อน เพราะเห็นเหตุการณ์และรูปแบบตลาดเปลี่ยนแปลงไป และยิ่งเปลี่ยนไปหลังโควิด-19 เข้ามา ซึ่งตอนนี้เรากำลังทำการบ้านกันอยู่ โดยทำเรื่องมาร์เก็ตเซ็กเมนต์ใหม่ เพราะกลุ่มลูกค้าที่ดีจะหดตัวลง แม้การแข่งขันยังอยู่ในระดับสูง และความต้องการสินเชื่อสูงขึ้น ทำให้ดิจิทัลเลนดิ้งเข้ามามีบทบาทขึ้น แต่แบงก์จะกล้าปล่อยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 ผ่านไป”

เคแบงก์ชู 2M6P สู้หลังโควิด

ขณะที่นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า สิ่งที่ทุกองค์กรต้องเตรียมพร้อมในการกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย คือ เรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พนักงาน และเครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งต้องมองในภาพรวมทั้งอีโคซิสเต็มตั้งแต่ลูกค้า ซัพพลายเออร์ และผู้ถือหุ้น เพราะหลังโควิด-19 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ตลาด รูปแบบธุรกิจและลูกค้า โดยกสิกรไทยจึงวางแนวทางดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดล 2M6P จะต้องมี 6P คือ 1.product จะเป็นแบบไหน 2.price ราคาจะเปลี่ยนแปลงไปช่วงนี้ต้องไม่เรียกเก็บแพง 3.place การเข้าถึงลูกค้าจะทำอย่างไร เมื่อลูกค้ามาใช้ดิจิทัลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราความสำเร็จดีขึ้นมาก และ 4.promotion ทำอย่างไรให้การทำโปรโมชั่นเข้าถึงกลุ่มลูกค้า

และอีก 2P คือ people เป็นเรื่องของพนักงานที่จะต้อง upskill และ reskill เพราะธนาคารไม่อยากให้ใครตกงาน หรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง และ productivity หลังจากธุรกิจกลับมาเปิด จะเห็น core function ซึ่งสามารถนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการทำงาน ขณะที่ 2M จะเป็นเรื่องของ market และ make it happen ทำให้เกิดขึ้นได้ โดยการปฏิรูปทั้งเรื่องกฎระเบียบกติกาจะเข้ามากระทบอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรต้องคิดและเตรียมการไว้

“เราต้องเตรียมพร้อมกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อโควิด-19 ผ่านพ้นไป และต้องดูว่าอะไรควรกลับมาก่อน จึงต้องมีทีม imagine และ reimagine เพื่อประเมินทั้งอุตสาหกรรม โดยระหว่างนี้เราจะต้องไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคา และมาตรการช่วยเหลือลูกค้าต้องทำให้เร็วที่สุด” นางสาวขัตติยากล่าว

เดินหน้าลดคน-ลดสาขา

แหล่งข่าวในวงการธนาคารกล่าวว่า จากผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้อุตสาหกรรมการเงินต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะตามมา จากการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ทั้งในแง่ของรายได้และโอกาสการทำกำไรที่ลดลง เนื่องคุณภาพของลูกค้าหรือลูกหนี้ที่ด้อยลง ประกอบกับผลจากมาตรการล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่าง ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนอย่างก้าวกระโดดในการหันมาเลือกใช้ดิจิทัลแบงกิ้งเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้หลังจากนี้อาจจะเห็นภาพชัดมากขึ้นของการปรับเปลี่ยนและลดบทบาทการทำธุรกรรมที่สาขา ทั้งจะเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญในการลดต้นทุนของธนาคาร

รวมถึงภาพของการลดจำนวนพนักงาน เช่น ล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้เปิดโครงการ “จากด้วยใจ” เปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความจำนงเข้าโครงการสมัครใจลาออก โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นพนักงานประจำที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ในปี 2563 โดยเปิดให้สมัครตั้งแต่ 20 เม.ย.-31 พ.ค. 2563 ด้วยข้อเสนอผลตอบแทนตั้งแต่ 4-33.3 เดือน อาทิ ผู้ที่มีอายุงานครบ 1 ปี จะได้รับผลประโยชน์รวม 4 เท่าของอัตราเงินเดือน และกรณีสูงสุดผู้ที่อายุงาน 20 ปีขึ้นไป จะได้รับผลประโยชน์รวม 33.3 เดือน สำหรับผู้ที่ผ่านการอนุมัติจะมีผลให้หยุดปฏิบัติงานตั้งแต่ 1 ก.ค. 2563

แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ธนาคารอื่น ๆ อาจจะยังไม่มีการเปิดโครงการเออร์ลี่ แต่ส่วนใหญ่ก็มีการลดพนักงานด้วยการไม่เปิดรับพนักงานใหม่ทดแทนพนักงานที่ลาออก ทั้งมีความเป็นไปได้ว่าหลังจากนี้จะมีการเปิดโครงการสมัครใจลาออกเพิ่มเติม

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย ก่อนหน้านี้ นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้ออกมายืนยันว่า ธนาคารไม่มีนโยบายการลดพนักงาน ขณะเดียวกันจะไม่รับพนักงานเพิ่มกรณีมีการลาออก ส่วนจำนวนสาขาที่ลดลงก็เป็นไปตามกลไกตลาด โดยยังคงให้ความสำคัญในทุกช่องทางบริการของลูกค้า ซึ่ง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 ธนาคารมีพนักงานทั้งสิ้น 20,324 คน และสาขา 887 แห่ง เช่นเดียวกับธนาคารกรุงเทพยืนยันว่าจะไม่มีการลดจำนวนพนักงาน หรือจัดให้มีโครงการเออร์ลี่รีไทร์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในส่วนของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมยังคงมีการปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ข้อมูลเดือน มี.ค. 2563 ทั้งระบบมีจำนวน 6,738 สาขา จากเมื่อสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 6,809 สาขา และสิ้นปี 2561 มีจำนวน 6,901 สาขา

“TMB-ธนชาต” ยุบรวมสาขา

ด้านนายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า แนวโน้มสาขาของธนาคารในปีนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยรูปแบบสาขาจะต้องทำได้มากกว่าธุรกรรมฝาก ถอน และโอน-จ่าย โดยจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มยกระดับสาขาให้เป็นที่แนะนำการลงทุน และผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงมากกว่าเงินฝาก

อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่มีนโยบายลดจำนวนพนักงาน แต่ทิศทางพนักงานจำเป็นต้องเสริมทักษะ (reskill) ในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้องเข้าใจในผลิตภัณฑ์ทางการเงินของทั้ง 2 ธนาคาร เช่น ลูกค้าทีเอ็มบีส่วนใหญ่จะเป็นฐานเงินฝาก No Fixed, All Free, พนักงานอาจจำเป็นต้องเรียนรู้ผลิตภัณฑ์เช่าซื้อควบคู่ด้วย ซึ่งปัจจุบันได้มีการเทรนนิ่งพนักงาน พบว่ามีความเข้าใจมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากที่ทีเอ็มบีได้ควบรวมกับธนาคารธนชาต จึงใช้โอกาสในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปรับปรุงพื้นที่สาขาใหม่ แบ่งเป็น 3 แนวทาง ได้แก่ 1.พื้นที่ทับซ้อนหรืออยู่ใกล้กัน ก็จะควบรวมสาขาของธนชาตและทีเอ็มบี ในแบบ colocation เช่น สาขาในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น คาดว่าจะมีรูปแบบนี้จะมีประมาณ 90-100 แห่ง จากปัจจุบันมีสาขารวมกันอยู่ที่กว่า 900 แห่ง ซึ่งก็จะทำให้จำนวนสาขาลดลงไประดับหนึ่ง รูปแบบที่ 2.คือสาขาตั้งเดี่ยว (stand alone) ของธนชาต และ 3.สาขาตั้งเดี่ยวของทีเอ็มบี ซึ่งปัจจุบันรวมกันมีมากกว่า 50% โดยโมเดล 2 และ 3 ก็จะปรับปรุงรูปแบบให้เห็นว่ามี 2 ธนาคารอยู่ด้วยกัน

เปิด-ปิดสาขาตามผลประกอบการ

นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยและเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารไม่ได้ปักธงเรื่องจำนวนสาขา ซึ่งเป็นนโยบายตั้งแต่ช่วง 2 ปีก่อน โดยธนาคารบริหารจัดการสาขาผ่านผลกำไร-ขาดทุน และปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้น ในช่วงที่เกิดโควิด-19 และพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป ธนาคารมีการปรับเปลี่ยนโอนย้ายตำแหน่งสาขา หากสาขานั้นอยู่ในทำเลไม่ดี และมีปริมาณธุรกรรมน้อย

อย่างไรก็ตาม สาขาธนาคารยังคงจำเป็นต้องมี โดยเฉพาะการให้บริการคำปรึกษา ที่ลูกค้ายังมีต้องการพบพูดคุยกับพนักงาน ขณะที่พนักงานก็ต้องเรียนรู้มากกว่าให้บริการฝาก ถอน โอนจ่าย แต่ต้องสามารถให้คำแนะนำการลงทุนกับลูกค้าได้ เพราะอนาคตธุรกรรมพื้นฐานฝาก ถอน โอนจ่าย จะขึ้นไปอยู่บนดิจิทัลทั้งหมด

“หลังโควิด-19 จะมีพฤติกรรมที่เรียกว่า new normal ของคนไทยเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง social distancing ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมาดูกลยุทธ์สาขาอีกที”

นางสาวชมภูนุช ปฐมพร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารมีพนักงานกว่า 1,000 คน ประมาณ 50% เป็นพนักงานประจำสาขา ซึ่งธนาคารไม่มีนโยบายลดพนักงาน จะรักษาพนักงานให้อยู่ในระดับนี้ พร้อมกับให้พนักงานเสริมทักษะ (reskill) ในเรื่องของดิจิทัลและไอทีเพิ่มเติม เนื่องจากพยายามส่งเสริมให้ลูกค้าหันมาทำธุรกรรมบนโมบายแบงกิ้งมากขึ้น ซึ่งสัดส่วนลูกค้าที่มาใช้โมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้นตามลำดับจาก 20-30% มาเป็น 40-50% ขณะที่ภาพรวมสาขาคงไม่ลดลงมากนัก เพราะด้วยจำนวนสาขาที่มีน้อยอยู่แล้ว โดยจะลดในทำเลที่มีการทำธุรกรรมน้อย