5 เดือนเคลมจยย.พุ่ง 10% บ.กลางฯ ยื้อหั่นเงินสมทบ

บอร์ดบริษัทกลางฯสั่งศึกษาตัวเลขผลกระทบหั่นเงินสมทบตามข้อเรียกร้องสมาคมประกันวินาศภัยไทย หวั่นกระทบจ่ายเงินพนักงาน ชี้ปกติต้องจ่ายเคลมสูงทำขาดทุนอยู่แล้ว คาดประชุมเดือน ก.ค.ได้ข้อสรุป เปิดตัวเลขเคลมประกันรถมอเตอร์ไซค์ปีนี้ 5 เดือนแรกพุ่ง 10% แจงอุบัติเหตุ/เสียชีวิตยังสูงแม้เจอไวรัสโควิด-19

อานนท์ วังวสุ

นายอานนท์ วังวสุ ประธานกรรมการและประธานตรวจสอบ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้คณะกรรมการบริษัทกลางฯได้มอบหมายให้นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทศึกษาผลกระทบกรณีหากจะต้องมีการปรับลดเงินสมทบที่บริษัทประกันภัยต้องจ่ายให้บริษัทกลางฯตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ดังที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้เสนอมา โดยบอร์ดให้ศึกษา 2 แนวทาง คือ 1.ปรับลดเงินสมทบลง 80% ของอัตราเงินสมทบ 12.25% ของเบี้ยประกันรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) หรือ 2.ปรับลดเงินสมทบจาก 12.25% ลงมาอยู่ที่ 8-9% ต่อปี เป็นการถาวร

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทกลางฯเป็นผู้รับประกันภัย พ.ร.บ. เฉพาะรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์) ซึ่งต้องประสบผลขาดทุนจากการจ่ายเคลม ขณะที่ในภาพรวมยังมีกำไรสะสม แต่ลอสเรโชที่เพิ่มขึ้น รวมถึงผลกระทบการปรับเพิ่มความคุ้มครองใหม่ ยังทำให้กำไรลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม การกำหนดแนวทางดังกล่าวจะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่กระทบต่อการขึ้นเบี้ยในช่วงเวลา 10 ปีต่อจากนี้ด้วย

“ปัจจุบันบริษัทกลางฯจะได้รับเงินสมทบเข้ามาประมาณ 1,700 ล้านบาทต่อปี โดยแนวทางลดเงินสมทบ 80% จะเป็นแค่ระยะสั้น ๆ เฉพาะปีนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับภาคธุรกิจประกันภัยที่กำลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนแนวทางลดเงินสมทบลงมาอยู่ที่ 8-9% ต่อปี เสนอเป็นการถาวร ทั้งนี้ คาดว่าการประชุมบอร์ดบริษัทเดือน ก.ค.หน้า จะมีความชัดเจนมากขึ้น ก็ต้องดูว่าถ้าลดยาว ๆ จะลดกี่เปอร์เซ็นต์ดี และบริษัทกลางฯจะกระทบแค่ไหน ซึ่งต้องไปศึกษาตัวเลข หลังจากเพิ่มความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเป็น 5 แสนบาทด้วย ว่าอัตราความเสียหาย (ลอสเรโช) เพิ่มขึ้นไปเท่าไหร่” นายอานนท์กล่าว

แหล่งข่าวบริษัทกลางฯกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือน พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา บริษัทกลางฯจ่ายเคลมประกันไปทั้งหมด 1.35 แสนรายการ มูลค่าเงินสินไหมกว่า 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ว่าช่วงสงกรานต์จะไม่มีวันหยุดเนื่องจากเป็นช่วงการระบาดโควิด-19 แต่พบว่าคนเสียชีวิตมากกว่าช่วงปกติด้วยซ้ำ หรือเฉลี่ยมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุราว 45-60 รายต่อวัน โดยประเทศไทยมีอุบัติเหตุและเสียชีวิตทางถนนอยู่ในอันดับ 9 ของโลก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO)

ดังนั้น ผลกระทบที่จะตามมา คือ หากปรับลดเงินสมทบไม่ว่าแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของบริษัทกลางฯ เช่น เงินเดือนพนักงาน เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่บริษัทกลางฯต้องปรับ คือ การควบคุมไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก และทำให้มีการรับประกันภัยที่มีประสิทธิภาพ หรือไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น

“เงินที่จ่ายออกไปเป็นเงินที่ได้จากค่าเบี้ยประกัน และปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการจ่ายเคลม ต้องขาดทุนอยู่แล้ว แถมตอนนี้มีความคุ้มครองใหม่ต้องจ่าย 5 แสนบาทต่อราย กรณีเสียชีวิต ขณะที่บริษัทไม่สามารถทำธุรกิจอื่นได้ ดังนั้นก็ต้องรณรงค์ลดความถี่หรือความรุนแรงการเกิดอุบัติเหตุทางใดทางหนึ่ง ซึ่งต้องเตรียมความพร้อม หากช่วงเดือน ก.ค.นี้ รัฐบาลจะมีการชดเชยวันหยุดช่วงสงกรานต์” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทกลางฯมีสัดส่วนเงินกองทุนสำรองที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (CAR) อยู่กว่า 400% หรือประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท