หุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์…อีกรูปแบบหนึ่งในการรักษ์โลก

หุ้นกู้-ธนบัตร
คอลัมน์ สถานีลงทุน
สุธาสินี เฉียงขวา สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

Green bond หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “หุ้นกู้สีเขียว” เริ่มเป็นที่คุ้นเคยในตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยภาคธุรกิจจะนำเงินทุนที่ได้จากการออกหุ้นกู้สีเขียวไปใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนนักลงทุนก็ได้รับผลตอบแทนในรูปของคูปอง (coupon) หรือดอกเบี้ยหน้าตั๋ว ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ออกมักกำหนดเป็นอัตราคงที่ตลอดอายุตราสาร อย่างไรก็ดี ล่าสุด หุ้นกู้สีเขียวมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่อ้างอิงกับอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์อื่น ในลักษณะเดียวกันกับหุ้นกู้อนุพันธ์ (structured note) จึงกลายมาเป็น “หุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์” (structured green note) ก็เพื่อให้ผลตอบแทนดึงดูดนักลงทุนมากยิ่งขึ้น

หุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์ ก็คือ หุ้นกู้อนุพันธ์ (structured note) ประเภทหนึ่งที่รวมคุณสมบัติของหุ้นกู้สีเขียวและตราสารอนุพันธ์เข้าไว้ด้วยกัน โดยอัตราผลตอบแทนจะกำหนดให้ขึ้นอยู่กับราคาสินค้า ราคาหุ้นของบริษัทที่มีส่วนช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ หรือดัชนีหุ้นของกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเข้าข่ายการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป็นต้น

แนวคิดของหุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์ เริ่มจาก European Investment Bank (EIB) ออก Climate Awareness Bond ในปี 2007 มีลักษณะเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ที่กำหนดให้การจ่ายผลตอบแทนขึ้นอยู่กับดัชนีหุ้นของบริษัทในยุโรป ที่มีการดำเนินงานที่ดีด้านสิ่งแวดล้อม (FTSE4Good Environmental Leaders Europe 40 Index) หลังจากนั้นก็มีหุ้นกู้ลักษณะนี้ทยอยออกมาอีกหลายรุ่น และตามมาด้วยการมีดัชนีผลตอบแทนตราสารหนี้เพื่อใช้ในการอ้างอิงผลตอบแทนของหุ้นกู้อนุพันธ์ โดย Green Bond Index ตัวแรกจัดทำในเดือนมีนาคม ปี 2014 โดย Solactive ซึ่งเป็นบริษัทจัดทำดัชนีในประเทศเยอรมนี

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ปี 2014 World Bank ได้มีการออกหุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์รุ่นแรกของโลก มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นหุ้นกู้สีเขียวที่ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับดัชนีราคาหุ้นของบริษัทในยุโรป (Ethical Europe Equity Index) จำนวน 30 แห่งที่ดำเนินโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หลังจากนั้น World Bank ก็ได้ออกหุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์อีก 10 กว่ารุ่น มูลค่ารวม 600 ล้านดอลลาร์ เสนอขายแก่นักลงทุนทั่วโลก โดยมากกว่าครึ่งเป็นการเสนอขายแก่นักลงทุนบุคคลรายย่อยในยุโรป และสหรัฐอเมริกา และนักลงทุนบุคคลรายใหญ่ในฮ่องกง และสิงคโปร์

นอกจาก World Bank แล้ว ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ออกหุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์ เช่น

Advertisment

– ธนาคาร HSBC สาขาฝรั่งเศส ออกหุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์อ้างอิงกับดัชนี Environmental, Social and Governance (ESG) Index มูลค่า 40 ล้านยูโร ในปี 2017 เพื่อนำไปให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจในสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ที่ดำเนินงานโครงการประหยัดพลังงาน

– ธนาคาร Natixis ในฝรั่งเศส ออกหุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์อ้างอิงกับดัชนี CO5E Index ในปี 2019 เป็นหุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์ตัวแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq Helsinki ประเทศฟินแลนด์

– Citigroup ธนาคารชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ในปี 2019 ได้ออกหุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์ที่กำหนดผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรต่าง ๆ เช่น ดัชนีหุ้น S&P 500 Index, Russell 2000 Index, Nasdaq-100 Index และรวมถึงราคาทองคำ

ล่าสุดเมื่อ 3 สิงหาคม 2020 ธนาคาร BNP Paribas ประเทศฝรั่งเศส ได้ออกหุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์ในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย เสนอขายนักลงทุนสถาบันแบบเฉพาะเจาะจง (private placement : PP) จำนวน 3 ราย (ได้แก่ Clean Energy Finance Corporation, Aware Super และ QBE Insurance) มูลค่า 140 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับดัชนี Australian Climate Transition Index (ACT Index) หรือดัชนีหุ้นของบริษัทที่มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นดัชนีแรกของออสเตรเลียที่คำนึงถึงการลดโลกร้อน เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้มีส่วนร่วมกับบริษัทที่ส่งเสริมการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นดัชนีที่พัฒนาร่วมกันระหว่าง BNP Paribas, Monash University, ClimateWorks Australia และ Institutional Shareholder Services

Advertisment

สำหรับประเทศไทย green bond หรือหุ้นกู้สีเขียว เริ่มมีการออกมากขึ้น และได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดยหุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์ก็เป็นนวัตกรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยเติมเต็มความต้องการของทั้งผู้ออกและนักลงทุนสายรักษ์โลก ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้ การมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แถมยังได้มีส่วนช่วยดูแลโลกอีกทางหนึ่ง นับว่าน่าสนใจค่ะ