ค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ ตลาดรอปัจจัยใหม่หนุนการซื้อขาย

เงินบาท

ค่าเงินบาทยังผันผวนในกรอบ ระหว่าง 30.34-30.43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตลาดรอปัจจัยใหม่หนุนการซื้อขาย ขณะที่นักลงทุนยังคงติดตามปัจจัยเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ รวมถงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน  2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/11) ที่ระดับ 30.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (23/11) ที่ระดับ 30.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังจากไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคการบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 57.9 ในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 56.3 ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 68 เดือน

อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงติดตามปัจจัยเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ หลังจากที่ในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐยืนยันว่าจะไม่ต่ออายุโครงการเงินกู้เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากบริษัทผลิตวัคซีนรายใหญ่ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19

ทางด้านไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐและบริษัทไบโอเอ็นเท็ก ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) เมื่อวันศุกร์ (20/11) ที่ผ่านมา เพื่อขออนุมัติการใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของทางบริษัทเป็นกรณีฉุกเฉิน ซึ่งหาก FDA ให้การอนุมัติ ก็จะส่งผลให้บริษัทไฟเซอร์สามารถทยอยใช้วัคซีนดังกล่าวกับชาวอเมริกันกลุ่มต่าง ๆ ได้

โดยกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจะได้รับการฉีดวัคซีนก่อน ขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการในภาคส่วนที่สำคัญ เช่น ครู อาจารย์ คนจรจัด และนักโทษในเรือนจำ จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มต่อไป ตามมาด้วยกลุ่มเด็กและวัยรุ่น

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.34-30.43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/11) ที่ระดับ 1.1845/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (23/11) ที่ระดับ 1.1880/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แม้จะมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐิจสำคัญในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะตัวเลขดัชนีมวลรวมภายในประเทศเยอรมนี ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 8.5 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

แต่ค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1840-1.1880 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1871/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/11) ที่ระดับ 104.54/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (23/11) ที่ระดับ 103.70/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าหลังจากที่นักลงทุนเริ่มขายสินทรัพย์ปลอดภัยจากข่าวดีในเรื่องวัคซีนโควิด-19

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.30-104.60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 104.30/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ เดือนพฤศจิกายน (24/11) ดัชนีภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทยเดือนตุลาคม (24/11) ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐ เดือนตุลาคม (25/11) ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐเดือนตุลาค (25/11) ผลิตภัณฑ์มวลรมในประเทศสหรัฐ (25/11) ดุลการค้าสหรัฐเดือนตุลาคม (25/11) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (25/11) ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐ (25/11) ดัชีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่น เดือนพฤศจิกายน (27/11) และความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป เดือนพฤศจิกายน (27/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.9/1.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.5/1.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ