“กฤษฎีกา” ลุยแก้กฎหมายคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ “อัตราลอยตัว-ห้ามเกิน 7.5%”

รูปประกอบข่าวการลงทุน-หุ้น-หุ้นกู้

“กฤษฎีกา” ลุยแก้กฎหมายคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ “อัตราลอยตัว-ห้ามเกิน 7.5%” เปิดฟังความเห็นถึง 17 ก.พ.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขอัตราดอกเบี้ยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 18 ม.ค. 2564 ถึงวันที่ 17 ก.พ. 2564
โดยอ้างถึงมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ให้มีการยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน

ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 7 (อัตราดอกเบี้ยในกรณีที่นิติกรรมหรือกฎหมายมิได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้ง) และมาตรา 224 (อัตราดอกเบี้ยผิดนัด) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในอัตราคงที่ 7.5% ต่อปี มีการใช้บังคับมากว่า 90 ปี โดยไม่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย จึงได้เสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้เป็นอัตราลอยตัว โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศทุกรอบระยะเวลา 6 เดือน โดยคำนวณจากอัตราเฉลี่ยของดอกเบี้ยในตลาดเงินบวกด้วยอัตราเพิ่มที่เหมาะสม เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยในกฎหมายมีความสอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ในกรณีที่มีการคิดดอกเบี้ยโดยอาศัยอัตราในกฎหมาย

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยผิดนัดจากลูกหนี้ในอัตราหรือวิธีการที่ก่อให้เกิดภาระแก่ลูกหนี้สูงเกินสมควร จึงกำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในหนี้ที่เจ้าหนี้กำหนดให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นงวด และกำหนดให้ข้อตกลงที่ขัดกับวิธีการคำนวณที่กฎหมายกำหนดมีผลเป็นโมฆะ

โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมาย มีด้วยกัน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่นิติกรรมหรือกฎหมายมิได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้ง จากอัตราคงที่ 7.5% ต่อปี เป็นอัตราลอยตัวที่ ธปท. ประกาศทุกหกเดือน โดยคำนวณเฉลี่ยจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจําประเภท 12 เดือนของธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดจำนวน 5 แห่งในรอบระยะเวลา 6 เดือนก่อนหน้า บวกด้วยอัตราเพิ่ม 1% ต่อปี ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ให้ใช้สำหรับการคิดดอกเบี้ยในรอบระยะเวลา 6 เดือนหลังจากวันที่มีการประกาศ

2.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 224 แห่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยผิดนัด จากอัตราคง 7.5% ต่อปี เป็นอัตราลอยตัวโดยให้เท่ากับอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่ม 3% ต่อปี แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกินอัตรา 7.5% ต่อปี

3.กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในหนี้ที่เจ้าหนี้กำหนดให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นงวด โดยหากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้เฉพาะจากเงินต้นของค่างวดที่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น และกำหนดให้ข้อตกลงของเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ขัดกับวิธีการที่กฎหมายกำหนดมีผลเป็นโมฆะ

4.กำหนดบทเฉพาะกาลให้บทบัญญัติตามมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม ใช้กับการคิดดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ

และ 5.กำหนดบทเฉพาะกาลให้บทบัญญัติตามมาตรา 224/1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเพิ่มโดยพระราชบัญญัตินี้ ใช้กับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในงวดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ