ธปท. ชี้ส่งออก ธ.ค. 64 พลิกโตในรอบ 10 เดือน 4.6%

ธปท. เผยเศรษฐกิจเดือนธ.ค.ฟื้นตัวแต่ยังไม่ทั่วถึง-เริ่มเห็นสัญญาณผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ ชี้ ตัวเลขการส่งออกกลับมาโต 4.6% ในรอบ 10 เดือนครั้งแรกตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าฟื้นตัว ส่วนการบริโภค-การผลิตยังหดตัว แต่การลงทุนเอกชนขยายตัว 4.5% ตามการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ พร้อมเกาะติด 3 ประเด็น โควิด-ตลาดแรงงาน-เศรษฐกิจคู่ค้า

นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ว่า ทิศทางยังคงเห็นการทยอยฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง และเริ่มเห็นผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วน

อย่างไรก็ดี เครื่องชี้ภาคการส่งออกในเดือนธันวาคม จะพบว่ากลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน เติบโตอยู่ที่ 4.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว และการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก ทำให้การส่งออกหมวดอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวดี และภาพรวมการส่งออกสินค้ากลับมาสูงกว่าหรือใกล้เคียงเทียบเท่าระดับก่อนเกิดโควิด-19

“การส่งออกเดือนธ.ค.ที่ขยายตัวได้ค่อนข้างดี จะมาจาก 2-3 ประเด็น คือ เศรษฐกิจคู่ค้าดีขึ้น ทำให้บรรยากาศการค้าโลกดีขึ้น วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ของโลกดีขึ้น และราคาน้ำมันและเกษตรปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี แนวโน้มต่อไปขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจคู่ค้าและบรรยากาศการค้าโลก หากยังดีขึ้นต่อเนื่อง การส่งออกก็น่าจะไปต่อได้ แต่ก็ต้องระวังโควิดที่จะกลับมาในไทยและต่างประเทศที่จมีผลต่อการค้าได้”

Advertisment

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.5% ตามอัตราการผลิตและการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ อย่างไรก็ดี เครื่องชี้วัดการลงทุนในฝั่งการก่อสร้างยังคงหดตัว เช่นเดียวกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัว -2.4% เป็นผลมาจากผลผลิตอ้อยที่ลดลง และโรงงานอ้อยปิดหีบช้า และผลจากภัยแล้ง สอดคล้องกับหมวดปิโตรเคมีหดตัวจากน้ำมันเครื่องบินที่ลดลง และผลจากฐานสูงในปีก่อน อย่างไรก็ดี หมวดยานยนต์ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ยังคงขยายตัวได้

ทั้งนี้ เครื่องชี้การบริโภคเอกชนเริ่มเห็นสัญญาณผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคม ส่งผลให้การใช้จ่ายหมวดบริการหดตัวสูง และการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนยังขยายตัวได้ โดยภาพรวมการบริโภคเอกชนหดตัวอยู่ที่ -2.9% จากเดือนก่อนหน้าขยายตัว 1.2% ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องตามรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ขยายตัว 74.1% ตามการลงทุนในระบบคมนาคมและชลประทาน แม้ว่ารายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว -13.0%

ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวประมาณการตัวเลขจำนวนนักลงท่องเที่ยวอยู่ที่ 5.5 ล้านคน แต่การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 อาจจะกระทบการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่มีความระมัดระวังมากขึ้น โดยยังคงต้องติดตามพัฒนาการวัคซีนและนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยว ดังนั้น มองว่าการท่องเที่ยวยังคงมีความไม่แน่นอน แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไม่สูง แต่คาดหวังรายได้ต่อหัวจะเพิ่มขึ้นหากมีการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่อยู่นานและใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยจำนวนหัวที่หายไปได้

สำหรับด้านเสถียรภาพต่างประเทศ โดยดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการเกินดุลการค้า แต่ลดลงจากเกินดุลการค้าเป็นสำคัญ โดยอยู่ที่ 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่เงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ยังคงแข็งค่า แต่เป็นผลมาจากดอลลาร์อ่อนค่าตามความมั่นใจของนักลงทุนในสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) อย่างไรก็ตาม ผลจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาทเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งอ่อนค่าลงเล็กน้อยในเดือนมกราคม

Advertisment

“เครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนธ.ค.ฟื้นตัวได้ แต่ยังไม่ทั่วถึง และเริ่มเห็นผลกระทบจากโควิด-19 บางส่วน ซึ่งต้องติดตามต่อในเดือนม.ค. ส่วนเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ฟื้นตัวต่อเนื่องตามการใช้จ่ายและการส่งออกที่ดีขึ้นอย่างไรก็ดี ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 ธปท.อยู่ที่ 3.2% ซึ่งเป็นการคาดการณ์ก่อนจะเกิดการระบาดระลอกใหม่ จึงต้องติดตามปัจจัย 2-3 ด้านมาประเมินใหม่ เช่น การเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจากเดิมคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือนและทยอยเปิดกิจกรรม แต่ปัจจุบันกิจกรรมเปิดเร็วกว่าคาด นโยบายภาครัฐจะมีผลมากน้อยระดับใด และเศรษฐกิจคู่ค้าบรรยากาศการค้าโลก เนื่องจากตัวเลขภาคการส่งออกในเดือนธันวาคมปรับตัวดีขึ้น”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธปท.ต้องติดตามต่อมีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยติดตามในเชิงผลกระทบและแตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม แต่จะเห็นว่ามาตรการควบคุมดูแลครั้งนี้เข้มงวดน้อยกว่าครั้งแรก เพราะไทยมีความพร้อมมากขึ้น ทำให้การชะงักของเศรษฐกิจไม่รุนแรง 2.การฟื้นตัวของตลาดแรงงาน แม้ว่าตัวเลขในเดือนธ.ค.ปรับดีขึ้น แต่ยังคงเปราะบาง และมีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

และ 3.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและนโยบายต่างประเทศ แม้ว่าโควิด-19 ระลอกใหม่จะไม่ได้มีการใช้นโยบาย Hard Lockdown แม้กระทบภาคบริการ แต่ไม่กระทบภาคผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งเอื้อต่อการค้าโลก นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ โดยไทยต้องเตรียมตัวผ่านการเร่งยกระดับการผลิตและคุณภาพสินค้า การสร้างสมดุลการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และรักษาสิทธิในการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ