กระแสลงทุนยุคใหม่ ‘เสี่ยงสูง’ โจทย์ใหญ่ท้าทาย ก.ล.ต.

โลกการลงทุนในยุคปัจจุบันรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว การลงทุนรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลต้องเท่าทัน ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกไปพร้อม ๆ กับปกป้องนักลงทุน ซึ่งงานแถลงแผนยุทธศาสตร์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปี 2564-2566 ภายใต้แนวคิด “Strengthening Resilient Future” เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผู้เกี่ยวข้องได้สะท้อนถึงการพัฒนาในระยะข้างหน้าไว้ ดังนี้

ขุนคลังมอบ 5 โจทย์ใหญ่

เริ่มจาก “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง กล่าวว่า ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการทำหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุนให้น่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้ เพื่อให้ตลาดทุนเป็นกลไกในการส่งเสริมการระดมทุน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยสิ่งที่อยากให้สำนักงาน ก.ล.ต.ดำเนินการเพิ่มเติม มีด้วยกัน 5 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การกำกับดูแลธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีเข้ามา อย่างเช่น บิตคอยน์ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น โดยเฉพาะการดูแลบริหารความเสี่ยงและให้ความรู้กับนักลงทุนที่มุ่งแสวงหาผลตอบแทนสูงสุด เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้มีมากเกินไปจนอาจส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในอนาคต

“บิตคอยน์เป็นเรื่องใหม่ต้องดูแลให้ดี เพราะวันนี้มันมีผู้ที่มีเงินน้อย แต่บังเอิญอยากได้ผลตอบแทนสูง ก็มีความเสี่ยงมาก ดังนั้นจะต้องให้ความรู้ โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารความเสี่ยง ต้องให้มีความรู้เท่าทัน”

2.การอำนวยความสะดวกให้กิจการบริษัทที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 3.ผลักดันการเข้าถึงตลาดทุนไทย ทั้งผู้ออม (saver) นักลงทุน (investor) และสตาร์ตอัพ (startup) ใหม่ ๆ ให้สามารถเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยได้ 4.ยกระดับความเชื่อมั่นและเสริมศักยภาพตลาดทุน เน้นวางรากฐานระดับกฎหมาย/กฎระเบียบ เพื่อให้ตลาดมีความมั่นคงและแข่งขันได้ และ 5.การพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม (ESG) เป็นสำคัญ และสามารถจัดสรรทุนไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้

แนะขยายฐานนักลงทุน 20 ล้าน

ขณะที่ “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เสนอว่า หากต้องการจะเพิ่มฐานนักลงทุนในตลาดทุนไทย วันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าคนไทยควรอยู่ในตลาดทุนกี่คนและในอีกกี่ปี ซึ่งหากยังไม่ถึงเป้า ก็อาจจะต้องกลับมาทบทวนมาตรการเดิม ๆ อย่างเรื่องภาษีหรือนโยบายอื่น ๆ ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า แม้จะมีกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) แต่ไม่มีกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยตกลงมาและฟื้นช้ากว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ

Advertisment

“ข้อเสียของตลาดทุนไทย คือ เรามีนักลงทุนระยะยาวน้อยมาก ๆ ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่เคยเป็นนักลงทุนระยะยาว ปัจจุบันก็เหลือแค่ 10-20% ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนระยะสั้นและเป็นพวกโปรแกรมเทรด จึงไม่มีกลไกนักลงทุนระยะยาวที่เข้ามาช่วยให้ดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นไปได้ วันนี้คนออมผ่านตลาดทุนมีอยู่ 2-3 ล้านคน ในขณะที่คนที่ออมผ่านธนาคารมากถึง 65 ล้านคน แบงก์จึงยังทำหน้าที่ผันเงินออมไปสู่เศรษฐกิจ ดังนั้น ถ้าจะให้ตลาดทุนผันเงินไปสู่ภาคเศรษฐกิจได้ ก็อาจต้องตั้งเป้าฐานนักลงทุนสูงถึง 10-20 ล้านคน”

ก.ล.ต.กางยุทธศาสตร์ 3 ปี

“รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต. ได้ประกาศเป้าหมายว่าจะผลักดันตลาดทุนไทยให้เป็น “ตลาดทุนของโลก” อีกแห่งหนึ่ง โดยกล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงาน ก.ล.ต.ใน 3 ปีข้างหน้าว่า แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ที่จัดทำขึ้นได้คำนึงถึงความเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาตลาดทุนไทย รวมถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปและโลกการเงินในยุคใหม่ อันนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายต่อทั้งภาคธุรกิจในตลาดทุนไทยและหน่วยงานกำกับดูแล

โดยกำหนด 5 เป้าหมายและจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้สามารถทุ่มเททรัพยากรได้อย่างเหมาะสม ตอบโจทย์ที่เป็นปัจจุบันและมีความสำคัญ ทั้ง 2 ประเด็น ได้แก่ 1.สิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนในการเสริมสร้างสภาพคล่องและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นฟู เข้มแข็ง และมีความสามารถในการแข่งขันต่อไปได้ และ 2.สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตลาดทุนไทยน่าเชื่อถือและมีรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับมาตรการระยะสั้น จะยกระดับการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วนมาตรการระยะปานกลาง จะมีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวม 11 ประเด็นด้วยกัน อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย, กลไกการคุ้มครองพยาน, การรับรายงานทางอิเล็กทรอนิกส์, การออกใบอนุญาต, การปรับโครงสร้างองค์กร เป็นต้น

Advertisment

“นอกจากนี้ จะเพิ่มขอบเขตให้ ก.ล.ต.สามารถเป็นพนักงานสอบสวนผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการลงทุนได้เอง โดยเฉพาะคดีสำคัญ ๆ ที่มีผลกระทบต่อตลาดทุนในวงกว้าง จากเดิมที่ ก.ล.ต.จะเป็นผู้ให้ข้อมูลเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ขณะนี้กำลังยกร่างแก้ไขกฎหมาย คาดว่าจะเสนอให้บอร์ด ก.ล.ต.พิจารณาภายในไตรมาส 3 ปีนี้”

ก.ล.ต.ยังมีแผนจะปรับโยกเรื่องการระดมทุนในรูปแบบเหรียญดิจิทัลที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ (security token) จากเดิมอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ให้มาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อคุ้มครองนักลงทุนได้ดีขึ้น ซึ่งจะมีกติกาออกมาในเร็ว ๆ นี้ ส่วนคริปโทเคอร์เรนซีและยูทิลิตี้โทเค็นจะยังอยู่ภายใต้กำกับ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯเช่นเดิม

“ในช่วง 3 ปีที่มี พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ พบว่า มีผู้ลงทุนเข้ามา 4.7 แสนบัญชี ที่สำคัญ เป็นเยาวชนจำนวนมาก หากเทียบนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย ปัจจุบันมีนักลงทุนแค่ 1 ล้านคนเศษ ๆ ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมาก เพราะยังเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ถ้าไม่มีองค์ความรู้”

สุดท้ายแล้ว ในโลกการลงทุนยุคใหม่ ผู้กำกับดูแลคงต้องชั่งน้ำหนักว่า การกำกับมากเกินไป อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา แต่หากปล่อยเกินไป ก็อาจจะสร้างผลเสียหายได้ ดังนั้น ก็ต้องสร้างสมดุลให้ได้