“SME-รายย่อย” แห่เข้าไอซียู ลูกหนี้หมดแรง NPL ไหลกลับ

แฟ้มภาพ

พิษโควิด-19 ยืดเยื้อกระทบ “รายย่อย-เอสเอ็มอี” ทรุดหนักขาดสภาพคล่อง พบสถานการณ์ “เอ็นพีแอล” ไหลกลับพุ่ง แบงก์เล็ก-แบงก์ใหญ่ยอมรับลูกหนี้อ่อนแรง กลุ่มโรงแรม-ค้าปลีก-ร้านอาหาร ตบเท้าปรับโครงสร้างหนี้ซ้ำรอบ 2-3 ธปท.ชี้ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ใหญ่กว่าที่จะเป็นภาระสถาบันการเงินเท่านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรฯเปิดข้อมูลไตรมาส 1/64 เอ็นพีแอลย้อนกลับเพิ่มเกือบ 3 หมื่นล้าน

ธปท.จับตาหนี้ครัวเรือนพุ่งต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผลประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ระบุว่า ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงถึง 90.5% ของจีดีพี และวิกฤตโควิด-19 ได้ทำให้ครัวเรือนจำนวนมากมีปัญหาในการชำระหนี้ ซึ่งจะเป็นปัญหามากยิ่งขึ้น ในช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นและเศรษฐกิจเผชิญความผันผวนสูง

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น โดยมาตรการเร่งด่วน คือ การเร่งผลักดันและกำหนดกลไกเพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีภาระหนี้สูง “อย่างจริงจัง” โดยมีการติดตามความคืบหน้าและประสิทธิผลของการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนเป็นผลจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2564 ที่ยังหดตัวเป็นสำคัญ ประกอบกับการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนจากไตรมาสก่อน จึงต้องติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นจากการระบาดระลอกสาม ซึ่งอาจทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี “ปรับสูงขึ้น” อีกในอนาคต ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ภาระใหญ่กว่าที่แบงก์จะแบก

รายงานการประชุมของ ธปท.ยังระบุว่า จากการประเมินเบื้องต้น ขนาดของความช่วยเหลือที่ภาคครัวเรือนต้องการอาจ “สูงเกินกว่า” ที่จะให้เป็นภาระของสถาบันการเงินเพียงฝ่ายเดียว จึงจำเป็นต้องพิจารณาบทบาทของ “ภาครัฐ” และ “ตลาดทุน” ประกอบไปด้วย นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความซับซ้อน เนื่องจากต้องคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการเกิด moral hazard และเกือบ 1 ใน 4 ของหนี้ครัวเรือน ที่ ธปท.เผยแพร่เป็นหนี้ของสถาบันการเงินที่อยู่นอกการกำกับดูแลของ ธปท. และตัวเลขนี้ยังไม่ได้นับรวม “หนี้นอกระบบ” โดยการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องทำแบบองค์รวม อีกทั้งควรเร่งฟื้นฟูรายได้ของครัวเรือนควบคู่ไป เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างครบวงจร

สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาวนั้น ต้องมีการเตรียมการทั้งเรื่อง 1) โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลเครดิตที่ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมดของครัวเรือน 2) การผลักดันให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม 3) การส่งเสริมให้ลูกหนี้มีความเข้าใจและมีวินัยทางการเงิน และ 4) การส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการทางการเงินทางเลือกเพื่อช่วยลดหนี้นอกระบบ

กลุ่มอาชีพอิสระเสี่ยงสูง

ขณะที่เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมยังเปราะบาง จากผลกระทบของการระบาดระลอก 3 โดยภาคครัวเรือนยังเผชิญความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานในภาคบริการและกลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งจะซ้ำเติมให้รายได้และความสามารถในการชำระหนี้เปราะบางยิ่งขึ้น และยังต้องพึ่งพาความต่อเนื่องของมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบ จึงต้องติดตามคุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ และช่วงที่มาตรการช่วยเหลือจะทยอยหมดลง

ลูกหนี้วิกฤตเข้า-ออก ICU

นายเมธา ปิงสุทธิวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มลูกค้าที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว และกลับมาขอปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ (re-entry) มีสัญญาณเพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะ ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบโควิด-19 ระลอก 3 ลากยาวจนต้องมีมาตรการล็อกดาวน์ กระทบสภาพคล่องของลูกค้าเริ่มถดถอยมากยิ่งขึ้น โดยลูกค้าที่เข้ามาขอปรับโครงสร้างหนี้ใหม่มีตั้งแต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากระลอกแรก และออกจากมาตรการไปแล้วกลับมาเข้ามาใหม่ หรืออยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ระลอก 2 เมื่อเจอระลอก 3 ไม่ไหวก็กลับเข้ามาขอปรับโครงสร้างใหม่อีกครั้ง เป็นต้น

สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่เข้ามาหลากหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่จะถูกกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากธุรกิจภาคการท่องเที่ยว โรงแรม และการประกาศล็อกดาวน์ทำให้การค้าขายลดลง โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ซึ่งกลุ่มนี้สายป่านค่อนข้างสั้น ทำให้ถูกกระทบค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่น

“ลูกค้าที่เราเคยช่วยเหลือไปแล้วและกลับมาปรับใหม่รอบ 2-3 เข้ามาเยอะ ช่วงนี้สถานการณ์ต้องยอมรับว่าถูกกระทบกันหมด เราก็ช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง เช่น รอบแรกปรับลดการผ่อนชำระจาก 100 บาท เหลือจ่าย 30 บาท ระยะ 3-6 เดือน แต่พอกลับมาจ่ายเหมือนเดิม บางรายก็ทำไม่ได้มาขอปรับใหม่ เราก็พิจารณาช่วยเหลือตามความเหมาะสมลูกค้าแต่ละราย ซึ่งมีหลายสูตร เพราะไม่ต้องการให้เกิดวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระ หรือ moral hazard เกิดขึ้น”

SMEs แห่ขอแก้หนี้อีกรอบ

ด้านนายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัญญาณตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลไหลกลับ (re-entry) ในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและ

ขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก เข้ามาขอปรับโครงสร้างหนี้รอบใหม่เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และโรงแรม เนื่องจากกลุ่มนี้ในช่วงต้นปีดูสัญญาณเหมือนจะฟื้นตัว แต่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้สภาพคล่องถูกกระทบอีก จึงเข้ามาให้ธนาคารปรับโครงสร้างหนี้ใหม่

“การปรับโครงสร้างหนี้ในกลุ่ม re-entry มีหลากหลายวิธี โดยหลัก ๆ จะพิจารณาปรับยืดอายุการชำระหนี้ ลดค่างวดผ่อนชำระลงให้สอดคล้องกับกระแสเงินสด รายได้ของลูกค้าเป็นหลัก เพื่อประคองให้ลูกค้าสามารถผ่านช่วงวิกฤตไปได้ ส่วนวิธีการปรับโครงสร้างหนี้แบบส่วนลดหนี้ (hair cut) จะเป็นทางเลือกสุดท้าย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ไปต่อไม่ได้ ต้องการเลิกกิจการ และขายทรัพย์บางส่วนมาชำระหนี้”

“ซื้อเวลา” ต่อลมหายใจ

นางสาวชมภูนุช ปฐมพร กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LH BANK เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์ระบาดที่มีความรุนแรงขึ้น พบว่ามีลูกค้าที่เข้าปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ชำระไม่ไหว แม้ว่ารอบแรกธนาคารจะปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ค่อนข้างเต็มที่แล้ว เช่น ยืดอายุการชำระหนี้ให้ยาวถึง 6 เดือน ควบคู่กับมาตรการอื่น ถือว่าค่อนข้างผ่อนปรนมาก แต่พบว่ามีลูกค้าเข้ามาขอปรับโครงสร้างหนี้อีกรอบ เพราะปัญหาลากยาวทำให้สภาพคล่องที่มีอยู่ไม่เพียงพอ

ขณะที่ลูกค้าพักชำระหนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นกลุ่มที่กิจการถูกปิดชั่วคราวซึ่งรายได้จากการทำธุรกิจหายไป หรือรายได้ลดลง ทำให้ต้องหยุดพักชำระหนี้ ซึ่งธนาคารก็หวังว่าภายในไตรมาสที่ 4 สถานการณ์ระบาดน่าจะทยอยดีขึ้นตามการฉีดวัคซีน

“ในภาวะแบบนี้เราคุยกับลูกค้าใกล้ชิดและก็ช่วยลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ และยืดการชำระหนี้ไปเรื่อย ๆ หากลูกค้าไม่ไหว เพื่อประคองให้ผ่านสถานการณ์ไปได้ เพราะเราคิดว่ายึดทรัพย์ของลูกค้ามาก็ไม่มีประโยชน์ และลูกค้าส่วนใหญ่ไม่อยากพักชำระหนี้นานจนเกินไป อย่างไรก็ดี แบงก์ส่วนใหญ่ก็ยังมีลูกค้ากลุ่มที่พอไปไหว และมีการลงทุนเพิ่ม ทำให้รักษาพอร์ตแบงก์ได้”

ลีสซิ่งเข้ามาตรการพุ่ง 3 เท่า

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ และในฐานะประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทพบว่าสัญญาณลูกค้าลีสซิ่งเข้ามาขอความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า จากช่วงต้นปี 2564 ที่ลูกค้าเข้ามาตรการช่วยเหลือทยอยลดลง แต่กลับมาเพิ่มอีกครั้งจากการระบาดระลอก 3 ในช่วงเดือน เม.ย.เป็นต้นมา โดยในส่วนของซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ พบว่า ยอดลูกค้าที่ขอเข้าโครงการเพิ่มขึ้นจากวันละ 200 ราย เป็น 600 รายต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าที่โดนลดเงินเดือน จะเน้นปรับโครงสร้างหนี้ และหากถูกปิดกิจการไม่มีรายได้จำเป็นต้องพักชำระหนี้ ดูตามความเหมาะสม

โดยช่วงที่ผ่านมา ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ ให้ความช่วยเหลือลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วกว่า 2 หมื่นราย วงเงินเฉลี่ย 3 แสนบาทต่อราย คิดเป็นเม็ดเงินราว 6,000 ล้านบาท และกลุ่มพักชำระหนี้ 1 หมื่นราย โดย ณ เดือน พ.ค. 2564 มียอดสินเชื่อคงค้าง 1.4-1.5 แสนล้านบาท

หนี้เสียย้อนกลับพุ่งขึ้น

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นใหม่ของระบบธนาคารพาณิชย์ พบว่าในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เพิ่มขึ้นราว 8.36 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2563 ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.03 แสนล้านบาท/ไตรมาส ส่วนหนึ่งเพราะลูกค้าเข้าโครงการช่วยเหลือของ ธปท. ทำให้ตัวเลขเอ็นพีแอลขยับขึ้นไม่มาก แต่ข้อเท็จจริงคือลูกหนี้ก็ไม่มีความสามารถการชำระหนี้แล้ว

สำหรับเอ็นพีแอลไตรมาส 1/64 ที่เพิ่มขึ้น 8.36 หมื่นล้านบาท แยกเป็นเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นจากลูกค้ารายใหม่ (new NPL) จำนวน 4.42 หมื่นล้านบาท และกลุ่มปรับโครงสร้างหนี้แล้วกลับมาเป็นหนี้เสียอีกรอบ (re-entry) ราว 2.97 หมื่นล้านบาท และอื่น ๆ อีก 9,655 ล้านบาท

ตัวเลขหนี้เสีย re-entry จะพบว่ามีสัญญาณเพิ่มขึ้นทั้งรายไตรมาส และทั้งปี โดยปี 2563 เฉลี่ยไตรมาสละ 3.5 หมื่นล้านบาท จากปี 2562 เฉลี่ยไตรมาสละ 1.72 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาพรวมทั้งปี 2563 อยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท จากปี 2562 ที่อยู่ 6.89 หมื่นล้านบาท สะท้อนภาพเศรษฐกิจและผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยาวนานกระทบต่อสภาพคล่อง ส่งผลให้ลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ไหลกลับมาเป็นหนี้เสียอีกรอบ โดยสัญญาณยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“ภาพรวมเอ็นพีแอลในช่วงที่มีปัญหาเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19 เราเห็นสัญญาณการขยับขึ้นของกลุ่ม re-entry เยอะขึ้น ขณะที่แบงก์ก็มีการปรับโครงสร้างเชิงรุกและทำต่อเนื่อง ซึ่งในไตรมาสแรกแบงก์เองก็สามารถบริหารจัดการเอ็นพีแอลผ่านวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ เรียกเก็บเงินได้ และตัดขายหนี้สูงถึง 6.97 หมื่นล้านบาท”

ยอดค้างจ่าย 90 วัน โป่ง 1.1 ล้านล้าน

นางสาวกาญจนากล่าวว่า ไตรมาส 1/64 เอ็นพีแอลรายใหม่ 4.42 หมื่นล้านบาท ถือว่าไม่สูงมาก เมื่อเทียบปี 2563 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไตรมาสละ 5.60 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะลูกค้าเข้าโครงการมาตรการช่วยเหลือของ ธปท. ทำให้ไม่กลายเป็นหนี้เอ็นพีแอล โดยคาดว่าลูกค้าจะทยอยเข้ามาตรการต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมเอ็นพีแอลทั้งปี 2564 ยังอยู่ในกรอบประมาณการอยู่ที่ 3.2-3.5% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ที่อยู่ 3.12%

สำหรับตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 90 วัน พบว่าในไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 1.109 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.44% ของยอดสินเชื่อรวม ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ที่อยู่ 1.108 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.65% ของยอดสินเชื่อรวมทั้งหมด จะเห็นว่าอัตราการเพิ่มไม่สูงมาก เพราะมีการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคาร