แบงก์จ่อตั้งสำรองเพิ่ม เร่งสแกนพอร์ต-เช็กยอดพักหนี้

แบงก์ขยับตั้งสำรองหนี้เสีย “กรุงศรี” ประเมินครึ่งปีหลังต้องตั้งสำรองสูงกว่าครึ่งปีแรก สั่งหน่วยธุรกิจสแกนพอร์ตสินเชื่อยิบทุกพอร์ตเช็กคุณภาพหนี้ ฟาก “ทิสโก้” รอประเมินคนเข้าร่วมพักหนี้ 2 เดือนก่อน

นางสาวดวงดาว วงค์พนิตกฤต ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงครึ่งหลังปี 2564 ทุกธนาคารยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์โควิด-19 ที่จะกระทบลูกค้าและธุรกิจ

แม้ว่าภาคการส่งออกจะขยายตัว แต่ไม่ได้มีผลต่อคุณภาพสินเชื่อ หรือพยุงรายได้ดอกเบี้ยมากนัก จึงเชื่อว่าทุกธนาคารยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง และคงตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“สำหรับกรุงศรี มองแนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่สดใสมากนัก โดยขณะนี้ธนาคารได้ให้แต่ละหน่วยธุรกิจประเมินคุณภาพพอร์ตสินเชื่อของลูกค้าแต่ละกลุ่ม และคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้าไปอีก 12 เดือนตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) เพื่อคาดการณ์การตั้งสำรองที่จะเกิดขึ้น”

Advertisment

ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าการตั้งสำรองในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะสูงกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากคาดการณ์ว่าวัคซีนโควิด-19 จะเข้ามาในไตรมาส 3-4 ซึ่งสถานการณ์ระบาดยังคงมีความเสี่ยงอยู่ อย่างไรก็ดี ช่วงที่ผ่านมาธนาคารมีการตั้งสำรองค่อนข้างเสถียร (stable) ในระดับสูงมาโดยตลอด

“เราให้แต่ละหน่วยธุรกิจไปประเมินคุณภาพสินเชื่อของตัวเอง ซึ่งพอร์ตไหนดูแล้วน่าเป็นห่วง ก็คงตั้งสำรองเพิ่ม เพราะโควิดไม่รู้จะลากยาวขนาดไหน หากมองไปข้างหน้ารายได้ไม่สดใส ทุกแบงก์คงเร่งลดค่าใช้จ่าย สำรองเพิ่ม

และดูแลลูกค้า ดังนั้น ภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะเห็นการขยับขึ้นแต่ไม่มาก เพราะมีมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่”

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ครึ่งปีหลังทิสโก้อาจจะตั้งสำรองไม่สูงมากแล้ว เนื่องจากได้ตั้งสำรองเผื่อไว้พอสมควรแล้ว อย่างไรก็ดี

Advertisment

ยังคงต้องรอติดตามสถานการณ์โควิด-19 ด้วยว่าจะลากยาวหรือไม่ ทั้งนี้ ธนาคารจะพิจารณาตั้งสำรองตามสถานะของลูกค้า และมองไปข้างหน้าอีก 12 เดือน โดยจะต้องพิจารณาจากลูกค้าที่ขอเข้ามาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบล็อกดาวน์

รวมถึงมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประเมินการตั้งสำรอง เช่น กลุ่มที่เข้าพักชำระหนี้ถือเป็นกลุ่มที่เดือดร้อน และไม่มีกระแสเงินสด ก็จะต้องตั้งสำรองมากกว่าปกติ

และสูงกว่ากลุ่มปรับโครงสร้างอื่น ๆ โดยคาดว่าครึ่งปีหลังเอ็นพีแอลจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์จะกระทบรายได้และความสามารถชำระหนี้ของลูกค้า

“เอ็นพีแอลของทิสโก้จะสะท้อนสถานะของลูกค้าตามความเป็นจริง เนื่องจากเราตั้งสำรองตามสถานะแท้จริงของลูกค้าอยู่แล้ว แม้ว่า ธปท.จะให้แรงจูงใจด้วยการคงสถานะการจัดชั้นลูกหนี้ก็ตาม

ถ้าเจอลูกค้าอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก เราจะตั้งสำรองเผื่อเลยทันที แต่จะคงสถานะลูกหนี้ในข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ตามนโยบายของ ธปท. โดยเรามีโมเดลในการคำนวณการตั้งสำรอง

อย่างโครงการคืนรถจบหนี้ ก็คำนวณว่าจะมีคนเข้าโครงการ 4,000-5,000 คัน เราก็ตั้งสำรองเผื่อไปแล้วในไตรมาส 2 ส่วนในช่วงไตรมาส 3 และที่เหลือของปีคงต้องรอดูว่าจะมีลูกค้าที่ขอพักชำระหนี้มากน้อยแค่ไหน”

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ธนาคารจะตั้งสำรองตามโมเดลจากการประเมินสถานการณ์ โดยจะมีการตั้งสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้

ซึ่งบอกไม่ได้ว่าจะสำรองไตรมาสละเท่าใด แต่ปัจจุบันถือว่าทำเกินสถานการณ์ 6 เดือนไปแล้ว และถือว่าอยู่ในระดับเพียงพอ

“ตอนนี้เราตั้งสำรองรวม ๆ 5,000 ล้านบาท คิดเป็นสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 160% ของเอ็นพีแอลทั้งหมด”