จับ 3 สัญญาณ… สู่การปฏิรูปเศรษฐกิจจีนยุคใหม่

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก
ขวัญใจ เตชเสนสกุล
EXIM BANK

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจโดยหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ และพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศมากขึ้น เพื่อเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ซึ่งที่ผ่านมาจีนดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม เริ่มมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนดูจะแข็งกร้าวและเอาจริงเอาจังมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนผ่านการดำเนินนโยบาย 3 ด้านสำคัญ ได้แก่

“ตัดตอนการผูกขาด สร้างโอกาสให้ธุรกิจหน้าใหม่ : ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด จนทำให้ผู้ประกอบการจีนก้าวขึ้นสู่การเป็นบริษัทชั้นนำของโลก อาทิ JD.com Alibaba รวมถึง Huawei

ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าจีนน่าจะใช้บริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าวเป็นหัวหอกในการต่อสู้ใน ‘สงครามเทคโนโลยี’ กับสหรัฐที่กำลังเข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับอยู่เหนือความคาดหมาย เมื่อรัฐบาลจีนเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายควบคุมการผูกขาด โดยพุ่งเป้าไปที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ใช้อำนาจผูกขาดธุรกิจ”

โดยล่าสุดรัฐบาลจีนได้สั่งลงโทษบริษัทขนาดใหญ่หลายรายที่ดำเนินธุรกิจแบบเอารัดเอาเปรียบบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก อาทิ Alibaba ที่ต้องจ่ายค่าปรับถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตลอดจนสั่งให้บริษัท Tencent ยกเลิกการผูกขาดลิขสิทธิ์เพลงภายใน 30 วัน สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจีนกำลังเอาจริงเอาจังในการลดอำนาจผูกขาดของผู้เล่นรายใหญ่ และสร้างโอกาสให้ธุรกิจหน้าใหม่ ซึ่งจะกระตุ้นการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยีของจีนเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

“ลดบทบาทรัฐ ใช้กลไกตลาดในการขับเคลื่อน ‘รัฐวิสาหกิจ’ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทางการจีนใช้ในการบริหารและพัฒนาประเทศมาโดยตลอด ทำให้ปัจจุบันขนาดของรัฐวิสาหกิจจีนคิดเป็นสัดส่วนถึงราว 30% ของ GDP

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะเริ่มลดบทบาทและลดการช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพลง สะท้อนได้จากยอดผิดนัดชำระหนี้ของรัฐวิสาหกิจในช่วงครึ่งแรกปี 2564 ที่สูงเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 3.6 หมื่นล้านหยวน (50% ของทั้งระบบ) โดยจะสังเกตเห็นว่าเริ่มมีรัฐวิสาหกิจจีนในหลายอุตสาหกรรมผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น อาทิ อสังหาริมทรัพย์ ถ่านหิน การเงิน เป็นต้น”

แม้ล่าสุดได้มีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นเป็นมูลค่าถึง 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นพบว่าทางการจีนกลับปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปตามกลไกตลาด โดยลดการแทรกแซงลง ซึ่งแม้ระยะสั้นจะสร้างความตื่นตระหนกให้ตลาดอยู่บ้าง แต่ในระยะยาวหลายฝ่ายมองว่าการปล่อยให้ธุรกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพออกไปจากตลาด จะช่วยทำให้เศรษฐกิจจีนมีเสถียรภาพมากขึ้น

“หยุด cryptocurrency ปูทางสู่ดิจิทัลหยวน เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลจีนพยายามผลักดันให้เงินหยวนดิจิทัลกลายเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นชาติแรกของโลก สังเกตได้จากทางการจีนเริ่มจ่ายเงินเดือนและแจกเงินหยวนดิจิทัลให้ประชาชนทดลองใช้ในหลายเมือง

อีกทั้งล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ภาพดังกล่าวมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อรัฐบาลได้ออกคำสั่งปิดเหมืองขุด cryptocurrency รวมทั้งสั่งให้ธนาคารกลางปิดบัญชีที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรม cryptocurrency”

ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าการทำธุรกรรมด้วย cryptocurrency ไม่สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการทำลายเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวดังกล่าวเ ท่ากับว่าจีนกำลังตัดตอนเงินดิจิทัลทางเลือกอื่น ๆ และเร่งผลักดันดิจิทัลหยวนให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในระบบการเงินจีน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้สกุลเงินดิจิทัลในระดับโลกตามมา

การที่จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นตลาดสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยจำนวนประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ย่อมส่งแรงกระเพื่อมถึงเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกับจีน อย่างรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี เป็นต้น ที่ต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ตลอดจนพร้อมปรับตัวและช่วงชิงโอกาสใหม่ ๆ ที่แทรกตัวอยู่ในการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน