โอไมครอน “บล.เมย์แบงก์” หวั่นปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโลกและไทย

บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) หวั่นโอไมครอน (Omicron) สายพันธุ์ใหม่เป็นความเสี่ยงทางลง (Downside Risk) ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ประเมิน SET Index เข้าสู่ช่วงแห่งความผันผวนในระยะเวลา 2 สัปดาห์ เเนะกลยุทธ์คงมุมมองระยะยาว

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564  นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย)  ให้ความเห็นว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โควิด-19  สายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) จัดอยู่ในกลุ่มที่น่ากังวล หรือ (Variants of Concern: VOC) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้สูงขึ้น ติดเชื้อแล้วอาการรุนแรงมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่การตรวจวินิจฉัยการป้องกันดัวยวัคซีน และการรักษา อาจมีประสิทธิภาพลดลง ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่เข้ามาแบบกะทันหันและเหนือความคาดหมายของตลาด ส่งผลให้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยง สินค้าโภคภัณฑ์ปรับฐานแรง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดล่าสุด พบผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) แล้วกระจายไปในหลายประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 27 พ.ย.) ประกอบไปด้วย แอฟริกาใต้, ฮ่องกง, เยอรมนี, อิสราเอล, สหราชอาณาจักร, อิตาลี, เบลเยียม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเป็นลำดับต้นๆหลังการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา

ในขณะที่ล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมาตรการจำกัดการเดินทางจาก 8 ประเทศเสี่ยง ได้แก่ Botswana, Eswatini, Lesotho, Malawi, Mozambique, Namibia, South Africa, Zimbabwe และมีความเป็นไปได้ที่จะยกระดับเพิ่มเติมในอนาคต

สำหรับความเสี่ยงการแพร่ระบาดที่เริ่มลุกลามมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทาง/ท่องเที่ยวระหว่างประเทศหลังการเริ่มเปิดประเทศทั่วโลกอาจต้องสะดุด และมีการกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ ซึ่งหากพิจารณากลุ่มประเทศที่เริ่มพบการแพร่ระบาด จะเห็นว่าหลายประเทศ ถือเป็นลูกค้าหลักของภาคการท่องเที่ยวไทยในช่วงการเปิดประเทศรอบนี้

ในขณะเดียวกันกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศที่ไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำตลาดใหม่ในทวีปแอฟริกา อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน อย่างไรก็ตามบริษัทผู้พัฒนาวัคซีนก็อยู่ในขั้นตอนการทดสอบ/ทดลองประสิทธิภาพของวัคซีนถึงผลการต้านทานไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว ขณะนี้ Moderna กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบวัคซีนกระตุ้นว่ามีประสิทธิภาพต้านทานมากเพียงใด ในขณะที่ AstraZeneca กำลังทำการวิจัยในประเทศ Botswana ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่พบสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) และ Pfizer คาดว่าจะใช้เวลาทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนประมาณ 2-3 สัปดาห์

นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์
นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์

หากประเมินภาพดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) เข้าสู่ช่วงแห่งความผันผวนในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต่างๆประเมินและทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงขายปรับพอร์ทอาจเกิดขึ้นในหุ้นกลุ่ม Domestics ซึ่งหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจภายในประเทศ  ที่ปรับตัวขึ้นในช่วงก่อนหน้า บนความคาดหวังการเปิดประเทศ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย

นำโดยกลุ่มการเงิน (Financials) การท่องเที่ยว (Tourism) นอกจากนี้ความกังวลดังกล่าว อาจส่งผลกระทบเชิงบรรยากาศ (sentiment) ต่อความต้องการ (Demand) การใช้พลังงาน กดดันราคาน้ำมันดิบและกลุ่มพลังงาน (Energy)

อย่างไรก็ตาม SET Index ที่ปรับฐานแรงในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนความกังวลจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ไปแล้วพอสมควร และในเชิงกลยุทธ์ยังคงมุมมองระยะยาว

ตั้งเป้าหมายดัชนี ปี 2565 ที่ระดับ 1750 จุด (สมมุติฐานกำไรตลาดฟื้นตัว +13% YOY ปีของ SET + 0.5 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน)

ดังนั้น ความผันผวนที่เกิดขึ้นจึงเป็นโอกาสตั้งรับสะสมหุ้นพื้นฐานเด่น ใน Theme “Hold to the Moon 2022” (Top Picks: EA JMART JMT SCC SNNP TTB) โดยมีจุดตั้งรับสำคัญที่บริเวณ 1570-1600 จุด