ดอลลาร์ร่วง แม้เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/1) ที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (12/1) ที่ระดับ 33.37/38 บาท/ดอลาร์สหรัฐ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน แม้กระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่พุ่งขึ้นถึง 7.0% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 6.8% ในเดือน พ.ย. นับเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี

แต่ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้แล้วก่อนหน้านี้ ทำให้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงไม่ดำเนินนโยบายทางการเงินใด ๆ นอกเหนือจากที่เคยแถลงไว้ จึงเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังตลาดรับรู้ข่าวดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 5.5% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.4% จากระดับ 4.9% ในเดือนก่อนหน้า

ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่องเทียบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ และการเปิดเผยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 46.2 ในเดือน ธ.ค. จากระดับ 44.9 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 40.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ระดับ 42.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 55.7

โดยได้รับปัจจัยบวกจากการที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 7 มาตรการ และการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ ขณะที่ปัจจัยลบยังคงเป็นความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ และค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.18-33.34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/1) ที่ระดับ 1.1441/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (12/1) ที่ระดับ 1.1364/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสกุลเงินกับสกุลเงินหลักอื่น จากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ของยูโรโซนที่ขยายตัว 2.3% ในเดือน พ.ย. จากที่หดตัว 1.3% ในเดือนก่อนหน้า และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียง 0.5% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1436-1.1473 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1461/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/1) ที่ระดับ 114.64/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (12/1) ที่ระดับ (15.36) เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ แม้ว่าจะมีการประกาศจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในประเทศที่เพิ่มขึ้นเกินระดับ 10,000 รายในรอบกว่าสี่เดือนวานนี้ (12/1) โดยทางกรุงโตเกียวพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,198 ราย เป็นตัวเลขที่เกินระดับสองพันในรอบสี่เดือนเช่นกัน และสูงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาประมาณ 5 เท่า

ขณะที่จังหวัดโอซากาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 1,711 รายในวันเดียว นับเป็นการเพิ่มขึ้นเหนือระดับหนึ่งพันรายเป็นครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. ปีที่แล้ว และเป็นการปรับเพิ่มจากสัปดาห์ก่อนเกือบ 7 เท่า อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เริ่มลดความสนใจต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลง และเปลี่ยนไปพิจารณาในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินของธนาครกลางต่าง ๆ แทน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.36-114.66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.54/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐ ในวันนี้ (13/1) และยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐ ในวันศุกร์ (14/1)

Advertisment

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.35/0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ -1.3/-0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ