ค่าเงินบาทอ่อนค่า หลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/1) ที่ระดับ 33.18/20 ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (26/1) ที่ระดับ 33.00/02 บาท ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน หลังจากเฟดได้แถลงผลการประชุมนโยบายการเงินเมื่อคืนที่ผ่านมามีท่าทีแข็งกร้าวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25%

นอกจากนี้ตลาดยังตีความจากการแถลงและตอบคำถามของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดว่าเฟดจะยังคงปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จำนวน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะส่งผลให้การทำ QE ของเฟดสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม พร้อมกับการเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าวเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เฟดไม่ได้ระบุว่าจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลเมื่อใด ทั้งนี้แถลงการณ์ของเฟดระบุแต่เพียงว่า “เฟดคาดว่ากระบวนการปรับลดขนาดงบดุลจะเริ่มขึ้น หลังจากที่มีการเริ่มกระบวนการปรับขึ้นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น” ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือน มี.ค. พร้อมกับคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งภายในปีนี้

ทั้งนี้เฟดเน้นย้ำว่าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน โดยเฟดไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่า อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าครั้งละ 0.25% เมื่อพิจารณาจากการพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อ สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 11.9% สู่ระดับ 811,000 ยูนิตในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 760,000 ยูนิต ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.08-33.27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (27/1) ที่ระดับ 1.12306/32 ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (26/1) ที่ระดับ 1.1293/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญจากการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐ โดยยังคงถูกกดดันเพิ่มเติมจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างยูเครนและรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้ส่งออกของเยอรมนีปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนมกราคม โดยเกือบทุกอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า การส่งออกจะขยายตัวขึ้น โดยดัชนีคาดการณ์การส่งออกปรับตัวขึ้นสู่ 17.4 จุดในเดือน ม.ค. จากระดับ 12.9 จุดในเดือน ธ.ค. ซึ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1193-1.1232 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1197/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/1) ที่ระดับ 114.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตาดเมื่อวันพุธ (26/1) ที่ระดับ 114.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าอย่างมากหลังการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานสรุปมุมมองเศรษฐกิจ (Summary of Opinions) จากการประชุมประจำเดือน ม.ค. ว่า กรรมการ BOJ คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญของญี่ปุ่น จะดีดตัวขึ้นสู่เป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% และเชื่อว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไป หากค่าจ้างยังคงมีการขยายตัว

ทางด้านนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ แถลงภายหลังการประชุมในวันดังกล่าวว่าเขาไม่คิดว่า BOJ มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในปัจจุบันหรือหารือเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเชื่อว่า การพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.48-115.05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 115.00/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ สัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE และ Core PCE Price Index) เดือน ธ.ค. จีดีพีไตรมาส 4/64 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิกรว่างงานรายสัปดาห์ (27/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.7/0.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.5/+0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ