“อมรเทพ” ส่อง ศก.ปีจอ จุดเปลี่ยนเชียงใหม่…สู่โอกาสธุรกิจ

ในงานสัมมนา “เชียงใหม่ 2018 จุดเปลี่ยน ประตูสู่โอกาส” จัดโดย นสพ.ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา “ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ได้ขึ้นเวทีสัมมนาเรื่อง “โลกไร้พรมแดน มองอนาคตเศรษฐกิจไทย” น่าสนใจดังนี้

ก่อนจะพูดถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย ก็ต้องดูเศรษฐกิจโลกก่อน ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องของคุณโดนัล ทรัมป์ (สหรัฐ) และคุณคิม จอง อิล (เกาหลีเหนือ) เพราะเมื่อเจรจากันยิงขีปนาวุธกันในเอเชีย ย่อมมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว ก็อาจเปลี่ยนเส้นทางท่องเที่ยวเลยหรืออยู่ไม่นาน ดังนั้นก็จะกระทบเศรษฐกิจไทยและเชียงใหม่

อีกประเด็น การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งปีนี้ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าตั้งแต่ต้นปีมาแล้วราว 10% เกือบจะมากที่สุดในภูมิเอเชีย เพราะเงินวอนของเกาหลีก็แข็งค่ามากกว่า ส่วนเงินริงกิตของมาเลเซีย แข็งรองลงมา แต่โดยรวมก็แข็งค่าราว 10% กัน แม้ว่าสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ย แต่คนยังไม่เชื่อมั่น แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าราว 10% ก็มีผลต่อกำลังซื้อของคนพอสมควร แต่อาจไม่มากนักในส่วนของการท่องเที่ยว คนน่าจะยังมาเที่ยวบ้านเราอยู่ และที่สำคัญแข็งค่าทั้งภูมิภาค ซึ่งเงินยูโรก็แข็งค่า

“ปีหน้าค่าเงินจะผันผวนน้อยลง แต่ไม่ได้ทิศทางเดียวอาจจะอ่อนค่าได้ ผู้ที่ทำท่องเที่ยว การส่งออกก็ต้องระมัดระวัง”

ส่วนเรื่องการปฏิรูปภาษีของสหรัฐที่ต้องจับตา แต่ต้องดูว่าคนอเมริกันยังมีเงินอยู่หรือเปล่า เศรษฐกิจสหรัฐยังโต ดังนั้นหลายคนประเมินว่าจะดีขึ้น ก็เบาใจเรื่องกำลังซื้อของต่างชาติ ที่ยังดีทั้งขาผู้ส่งออกและท่องเที่ยว

ปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ โดยปกติเศรษฐกิจในประเทศจะดี ก็ต้องรอราว 2-3 ไตรมาส หลังจากภาคส่งออกอุตสาหกรรม และท่องเที่ยวขยายตัวดี จึงจะส่งผ่านมาถึงเศรษฐกิจในประเทศได้ เพราะต้องมีการเริ่มลงทุน เริ่มจ้างงาน ขยายเวลาทำงาน มีการระบายสต๊อกและเริ่มกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นชัดเจนขึ้นจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

แต่ว่ากลุ่มธุรกิจ SMEs อาจจะต้องรอถึงกลางปี 2561 เพราะต้องรอธุรกิจขนาดใหญ่ขยับก่อน ถึงจะมาใช้บริการธุรกิจ SMEs หรือรายได้จะเริ่มหมุนก่อน ปีหน้า คนจะเริ่มรู้สึกมากขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน

ความท้าทายของปี 2561 จะมีเรื่อง “การเลือกตั้ง” จะมีผลต่อความเชื่อมั่นและการบริโภค ซึ่งมอง 3 กรณี คือ กรณีเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากที่จะเกิด พ.ย. 61 ซึ่งน่าจะเกิดในปี 2562 ไม่ว่าจะกฎหมายลูกไม่ผ่าน หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญก็แล้วแต่ คนก็อาจเลื่อนไปลงทุนอีกปีหนึ่ง เท่านั้นเอง เมื่อคำนวณแล้วเศรษฐกิจจะโตเหนือ 3.5%

กรณีที่ 2.หากพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่งสนับสนุนให้ คสช. อยู่ในอำนาจต่อบริหารจัดการ ก็มีผลบวกด้านการสานต่อโครงการต่าง ๆ รถไฟฟ้าฯ เขตเศรษฐกิจยังอยู่ 4.0 ยังมีเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะโต 3.7-4.0% และ 3.หาก คสช.ถอยออกมา แต่ใช้อำนาจ ส.ว. ในการกำกับดูแลรัฐบาลให้เดินหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และให้กระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลเดินหน้าต่อไป เศรษฐกิจไทย 3.9-4.5%

กรณีที่ 2 กับ 3 ไม่ได้ต่างกันมากขึ้นอยู่กับกระบวนการมากกว่า ดังนั้น ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเริ่ม pick up และเห็นในช่วงกลางปีเป็นต้นไป

ส่วนความเสี่ยงที่ต้องจับตา 1.ประธานาธิบดี “ทรัมป์” จะอยู่ต่อหรือถูกอภิปรายไว้วางใจให้หลุดออกไป 2.ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตร ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องกับกำลังซื้อ ราคาน้ำมันที่จะกระทบต่อต้นทุนที่สูงขึ้น 3.จีนที่เกี่ยวข้องกับคนเชียงใหม่อย่างมาก เพราะกว่า 30% ของนักท่องเที่ยวเป็นชาวจีน ซึ่งมีสัญญาณฟื้นตัว 1-2 เดือนนี้ จึงเป็นโอกาสของเชียงใหม่ แต่เศรษฐกิจจีนอยู่ระหว่างปรับโครงสร้าง ซึ่งหากเกิดผลกระทบหรือชะลอตัว ก็จะมีความเสี่ยงกระทบนักท่องเที่ยวจีนมาไทย 4.ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ที่จะพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ย หรือเปลี่ยนแปลงค่าเงิน 5.เรื่องการเมืองของประเทศต่าง ๆ ที่จะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ปีหน้ามีการเลือกตั้งของอิตาลีเข้ามาว่าจะออกนอกอียูไหม จะเป็นอย่างไร นักท่องเที่ยวยุโรปจะมาเชียงใหม่มากขึ้นไหม ก็ต้องจับตามองเช่นกัน และ 6.รัฐธรรมนูญว่าจะร่างผ่านได้แค่ไหน

ส่วนเชียงใหม่ เมื่อมี “ไทยแลนด์ 4.0” แล้ว ก็จะมี “เชียงใหม่ 4.0” ซึ่งจะเน้นท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์มากขึ้นอย่างไร จะเป็น “สมาร์ททัวริซึ่ม” แบบไหน รวมถึงจะเน้นนักท่องเที่ยวแบบไหน เน้นให้อยู่นานขึ้น จะเชื่อมโยงกับสมาร์ทซิตี้อย่างไร ซึ่งไม่ใช่แค่การออกแบบเมือง เพราะหัวใจของเมืองคือ คนเป็นมิตร วัฒนธรรมที่ดี ซึ่งคนเชียงใหม่น่ารัก จะดึงดูดให้เข้ามาไทย

ที่สำคัญ เชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางการค้าของภาคเหนือ ที่เชื่อมโยงจังหวัดรอบข้าง และยังสามารถเชื่อมกับกลุ่ม GMS เชื่อมการค้าชายแดน ที่ยังเติบโตได้ดีกลุ่มกำลังซื้อเมียนมา สปป.ลาว หรือตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะเชื่อมโยงได้ในอนาคต และหากมีการทำการค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ จะยิ่งทำให้ยอดขายเติบโตได้ไม่จำกัดแค่คนในเชียงใหม่ แต่จะหมายถึงคนต่างชาติเข้ามาร่วมด้วย และหากต่อไปถึงเรื่องบริการทางการเงินแบบสังคมไร้เงินสด โดยมีธนาคารอยู่บนมือถือ การคิวอาร์โค้ด การพกมือถือจ่ายเงิน ถือเป็นอีกโจทย์ที่ทุกคนจะต้องปรับตัว และอาจมีแนวให้สามารถขยายธุรกิจได้มากขึ้น