“สถาบันป๋วยฯ”ชี้สื่อสารนโยบายการเงินต้องโปร่งใส ธปท.เผยธนาคารใช้ศัพท์ยาก-ชัดเจนลด

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (สศป.) ชี้ปมการสื่อสารนโยบายการเงินต้องโปร่งใส 5 ด้าน เผยปัจจุบันธปท.ไทยอยู่อันดับ 1 ในอาเซียนเรื่องความโปร่งใสนโยบายการเงิน

นายพงษ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการ เสนอผลงานวิจัยเรื่อง ‘ถอดรหัสนโยบายการเงิน : สื่ออย่างไรให้เกิดประสิทธิผล?’ ที่ธปท.ว่า กว่า 17 ปีที่ผ่านมาที่ธปท. เริ่มใช้นโยบายการเงินที่ใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย(Inflation Targeting) ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินนโยบาย โดยส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับระดับการเปิดเผยข้อมูลของธนาคารกลางที่ใช้ในการตัดสินใจนโยบายการเงิน

จากงานศึกษาของ Eijffinger and Geraats (2006) ได้แบ่งความโปร่งใส เป็น 5 ด้าน ซึ่งจะพิจารณาตามขั้นตอนการดำเนินนโยบาย ได้แก่ 1. Political transparency เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกาศวัตถุประสงค์ของนโยบายการเงิน เช่น ประเทศที่ใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย ต้องประกาศตัวเลขให้ชัดเจน เพื่อช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองที่อาจออกมามุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ละเลยเงินเฟ้อที่อาจเร่งขึ้นเร็ว ที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพของระดับราคา

2. Economic transparency เกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลที่สำคัญซึ่งธนาคารกลางใช้พิจารณาในการดำเนินนโยบาย เช่น ตัวเลขเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจการเงิน รวมถึง ตัวเลขคาดการณ์และแบบจำลองที่ใช้ในการพยากรณ์แนวโน้มเศรษฐกิจ

3.Procedural transparency เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการตัดสินใจ เช่น การเปิดเผยผลโหวต (voting records) การเปิดเผยรายงานการประชุม (minutes) รวมถึงการเปิดเผย รายละเอียดการพูดคุยในห้องประชุม (transcripts) ซึ่งต้องดูจากปัจจัยแวดล้อมในแต่ละต่างประเทศเพราะอาจทำให้เกิดความสับสนได้

Advertisment

4.Policy transparency เกี่ยวข้องกับการประกาศ และการให้เหตุผลในการตัดสินใจในการดำเนินนโยบาย เช่น การแถลงข่าวผลการประชุมต่อสาธารณะทันทีหลังการประชุม (monetary policy statements) ซึ่งมีส่วนสำคัญคือ การQ&A ที่จะทำให้สื่อมวนชนสามารถนำข้อมูลไปสื่อสารถึงประชาชนได้อย่างถูกต้อง

5.Operational transparency เกี่ยวข้องกับการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ (implementation) เช่น ข้อมูลการ ทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อดูแลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ อาจรวมถึงการวิเคราะห์การส่งผ่านของนโยบายการเงิน (transmission) และการประเมินผลการพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจ (forecast evaluation)

จากเกณฑ์ความโปร่งใสดังกล่าว Geraats (2009) ได้วัดระดับความโปร่งใสของธนาคารกลาง โดยเปรียบเทียบระหว่าง กลุ่มประเทศที่ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 24 ประเทศ กลุ่มประเทศที่ใช้กรอบอัตราแลกเปลี่ยน 40 ประเทศ และกลุ่มประเทศที่ใช้เป้าหมายปริมาณเงิน 18 ประเทศ พบว่า ความโปร่งใสของกรอบการดำเนินนโยบายการเงินทุกประเภทมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมีความโปร่งใสในการดำเนินนโยบาย ในระดับสูงกว่ากรอบอื่นๆ

นายวราพงษ์ วงศ์วัชรา ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ในเรื่องการสื่อสารที่โปร่งใส ยังมีส่วนที่ต้องให้ความสำคัญคือ ข้อความธนาคารกลางต่างๆใช้ ซึ่งจะส่งผลต่อความยากง่ายในการอ่านและปริมาณคำที่ใช้ ทั้งนี้ธนาคารส่วนใหญ่ใช้ศัพท์ทางวิชาการ หรือคำที่ไม่คุ้นเคยในชีวิตประจำวันในสัดส่วนที่สูง ซึ่งจะทำให้ ข้อความอ่านได้ยากขึ้นและอาจมีความชัดเจน (clarity) ลดลง

Advertisment

จากดัชนี Flesch and Kincaid ซึ่งใช้วัดจำนวนปีการศึกษาของผู้อ่านที่ควรจะได้เพื่อสามารถ อ่านข้อความที่ต้องการประเมินได้เข้าใจ พบว่าโดยเฉลี่ยผู้ที่จะ อ่านเอกสารของธนาคารกลางได้ดีต้องเป็นผู้ที่มีเกณฑ์ความรู้ ในระดับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะหากต้องทำความเข้าใจการ สื่อสารของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก ไม่ว่าจะเป็น FED ECB หรือ BOJ ซึ่งล้วนแต่มีค่าความอ่านยากสูงกว่า ค่าเฉลี่ยของกลุ่มทั้งสิ้น ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่อยู่ระดับ 13.9 คะแนน หรือหมายถึง ผู้อ่านที่สามารถเข้าใจผลการประชุมนโยบายการเงิน(Policy statement) ของธปท. ควรได้รับการศึกษาประมาณ 13.9 ปี(ประมาณ นักศึกษามหาวิทยาลัยปี 2 )

อย่างไรก็ตามจากที่Dincer and Eichengreen (2014) ทำการ วัดระดับความโปร่งใสของธนาคารกลางโดยใช้หลักการ ดังกล่าวของ Eijffinger and Geraats (2006) ครอบคลุม 120 ธนาคารกลาง ตั้งแต่ปี 2541 (ค.ศ1998)- พ.ศ.2557(ค.ศ. 2014) ประเทศที่ได้ คะแนนความโปร่งใส 5 อันดับแรกเป็นธนาคารกลางที่ ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ คือ สวีเดน สาธารณรัฐเช็ด นิวซีแลนด์ ฮังการี อิสราเอล

ส่วนประเทศไทย มีความโปร่งใสของการดำเนินนโยบายการเงินอยู่ในระดับที่สูงที่สุดใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้