
เงื่อนไขการถอดกำไล (EM) ของนักโทษที่จะได้รับอนุญาตจากศาล รวมถึงเงื่อนไขเพิ่มเติม
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring) หรือ EM หมายถึงอุปกรณ์รับส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์พร้อมกับชุดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการติดตามตัว รวมถึงการตรวจสอบความเคลื่อนไหว หรือตำแหน่งของผู้ถูกคุมประพฤติให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาล หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสั่ง อาทิ การห้ามออก หรือห้ามเข้าบริเวณที่กำหนด โดยอาจกำหนดช่วงเวลาด้วยก็ได้ ซึ่งจะดำเนินการควบคู่กับมาตรการแก้ไขฟื้นฟู
- พายุลูกใหม่จ่อเข้าไทย ชี้ความรุนแรงเท่า “เตี้ยนหมู่” ระวังน้ำท่วมใหญ่
- กรมอุตุฯเตือน “พายุดีเปรสชั่น” เข้าไทย รับมือฝนตกหนัก-ท่วมฉับพลัน
- นายกฯตั้งบอร์ดใหญ่คุมแจกเงิน 10,000 บาท ห้าง-โมเดิร์นเทรดรับอานิสงส์
ทำไมต้องใช้กำไล EM
ด้วยกระบวนการยุติธรรมไทยเผชิญปัญหาหลายด้าน ได้แก่ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ปริมาณผู้ต้องขังในเรือนจำมีจำนวนมาก จนเกิดความแออัด และเกิดสภาพปัญหาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ การลงโทษจำคุกในความผิดเล็กน้อย ที่นำไปสู่การพัฒนาการกระทำผิดของผู้ต้องโทษในเรือนจำ และยังมีปัญหาการขาดมาตรการป้องกันทางสังคม
กรณีผู้ต้องขังที่ได้รับการพักการลงโทษ หรือได้รับการลดวันต้องโทษ หรือกรณีผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติจราจรฯ หรือผู้ถูกคุมประพฤติที่ได้รับการรอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ ตามประมวลกฎหมายมาตรา 56 หากพวกเขาเหล่านั้นไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ โดยไม่มีวิธีการติดตามในชั้นควบคุมและสอดส่ง ผู้ได้รับการปล่อยตัวเช่นว่านั้นอาจเป็นภัยต่อสังคม
ซึ่งจำเป็นต้องนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring : EM) มาใช้เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งของผู้มีอำนาจสั่งไปพร้อม ๆ กับมาตรการแก้ไขฟื้นฟู
กำไล EM ใช้กับใคร
ผู้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ของกรมคุมประพฤติ ต้องเป็นผู้ที่ศาล หรือพนักงานผู้มีอำนาจสั่งคุมความประพฤติ อาทิ ผู้ถูกคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ผู้ได้รับการพักการลงโทษ ฯลฯ พร้อมกำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว
ซึ่งอาจควบคู่กับเงื่อนไขการคุมความประพฤติอื่น ๆ ก็ได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสมกับผู้กระทำผิดรายนั้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด
เงื่อนไขการใช้กำไล EM ใช้กับฐานความผิดใด
กรณีจำกัดบริเวณ
- จำเลยมีข้อบกพร่องในเรื่อง เที่ยวเตร่ในเวลากลางคืน, เล่นการพนัน, เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ, ดื่มสุรามึนเมาแล้วก่อเรื่องราวทะเลาะวิวาท, พกพาอาวุธ
- มีที่พักอาศัยในพื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติด
- ความผิดฐานลักทรัพย์ที่ประกอบด้วย เหตุฉกรรจ์ เช่น ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ลักทรัพย์ในเคหสถาน
กรณีจำกัดความเร็ว
- ความผิดฐานขับรถประมาทฯ
- ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ เช่น แข่งรถในทางสาธารณะฯ, ใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
กรณีห้ามเข้าเขตกำหนด
- ความผิดฐานบุกรุก, ทำร้ายร่างกาย, ความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งผู้เสียหายยังเกรงกลัวจำเลย, จำเลยอยู่ในชุมชนเดียวกับผู้เสียหาย
ห้ามออกนอกเส้นทางที่กำหนด
- ใช้ร่วมกับเงื่อนไขอื่น ๆ ในกรณีที่จำเลยมีความจำเป็นต้องออกจากที่พักเพื่อไปประกอบอาชีพ หรือมีภารกิจต่าง ๆ

ประโยชน์ของกำไล EM
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายด้านที่สำคัญคือ
1.ใช้เป็นมาตรการแทนการลงโทษจำคุก ซึ่งช่วยลดโอกาส การเรียนรู้การกระทำผิดที่ร้ายแรงมากยิ่งขึ้นในเรือนจำ
2.ให้โอกาสผู้กระทำผิดได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวในสังคมได้อย่างปกติ และยังสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว แต่ยังต้องพิสูจน์ตนเองในการปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด โดยไม่หันไปกระทำผิดซํ้าภายใต้การคุมความประพฤติอย่างเข้มงวด ในขณะเดียวกัน ให้ครอบครัวได้มีส่วนช่วยในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน
3.พนักงานคุมประพฤติสามารถตรวจสอบติดตามพฤติกรรมผู้กระทำผิดในระยะไกลได้ตลอดเวลา
4.เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่สังคมและผู้เสียหายในการใช้มาตรการคุมความประพฤติผู้กระทำผิด
แหกกฎกำไล EM ทำเสียหาย ขาดการติดต่อ จะเกิดผลอย่างไร
หากผู้กระทำผิดฝ่าฝืนเงื่อนไขการคุมความประพฤติด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว รวมถึงพยายามรบกวนอุปกรณ์ ทำให้อุปกรณ์เสียหาย หรือทำให้ขาดการติดต่อไม่ว่ากรณีใด จะมีสัญญาณเตือนไปยังระบบของศูนย์ควบคุมกลางในทันที
ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง จากนั้นพนักงานคุมประพฤติจะตรวจสอบข้อเท็จจริง และหากพบว่าจงใจฝ่าฝืนเงื่อนไขหรือข้อปฏิบัติในการใช้อุปกรณ์ พนักงานคุมประพฤติจะรายงานศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสั่งโดยเร็ว เพื่อมีคำสั่งต่อไป ซึ่งอาจมีคำสั่งเพิกถอนการคุมความประพฤติ และถูกกำหนดโทษ หรือลงโทษจำคุก ตามที่รอการลงโทษ หรือพักการลงโทษไว้
อาสาสมัครคุมประพฤติ-ประชาชนทั่วไป ทำอะไรกับกำไล EM ได้บ้าง
ภายใต้การกำกับดูแลของพนักงานคุมประพฤติ อาสาสมัครคุมประพฤติ มีบทบาทในการช่วยเหลือพนักงานคุมประพฤติ ดังนี้
- แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด
- ติดตาม ดูแลช่วยเหลือ สงเคราะห์ ผู้กระทำผิด หรือผู้ได้รับการสงเคราะห์
- แสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้กระทำผิด
- ส่งเสริมสนับสนุนภารกิจของกรมคุมประพฤติ
- มีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรม
- บทบาทหน้าที่อื่นตามที่อธิบดีกรมคุมประพฤติมอบหมาย
ภายใต้การกำกับดูแลของพนักงานคุมประพฤติ ภาคประชาชน มีบทบาทที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด
- สงเคราะห์ผู้กระทำผิดและผู้กระทำผิดภายหลังปล่อย
- สนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจของกรมคุมประพฤติ
เงื่อนไขการถอดกำไล EM
เป็นนักโทษที่ขอความกรุณาแก่ศาล และศาลมีคำสั่งอนุญาตปลดกำไล EM เนื่องจากความสะดวกในการเดินทาง หารายได้ และผู้ถูกคุมประพฤติที่เข้าเงื่อนไขได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว หลังพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ สำหรับขั้นตอนการปลดกำไล EM นั้น
กรมคุมประพฤติต้องได้รับหนังสือแจ้งจากกรมราชทัณฑ์ก่อน จากนั้นจึงนำบัญชีดังกล่าวมาตรวจสอบ และส่งไปยังเรือนจำทั่วประเทศให้ตรวจสอบรายชื่อของผู้ถูกคุมประพฤติทั้งหมด เพื่อตรวจทานให้ตรงกันว่าบัญชีรายชื่อดังกล่าวเข้าเงื่อนไขได้อภัยโทษหรือไม่ เพื่อเสนอให้คณะอนุกรรมการทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีรายชื่อปลดอุปกรณ์ฯ ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีรายชื่ออีกครั้ง
ต่อมาเรือนจำจะต้องนำรายชื่อดังกล่าวไปออกเอกสาร หรือที่เรียกว่าใบสุทธิ/ใบบริสุทธิ์ ที่แสดงว่าผู้ถูกคุมประพฤติได้พ้นมลทินแล้ว เพื่อนำใบบริสุทธิ์ไปถอนรายชื่อออกจากทะเบียนผู้ถูกคุมประพฤติเพื่อปลดกำไล EM ขั้นตอนทั้งหมดดำเนินการเสร็จภายใน 120 วัน