ย้อนปมปัญหา ย้ายอุเทนถวาย ส่งพื้นที่ให้จุฬาฯ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

อุเทนถวาย

เปิดมหากาพย์ ย้อนปมปัญหา ส่งพื้นที่ให้จุฬาฯ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด หลังกลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังจากที่นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อดำเนินหารือเพื่อดำเนินการตามคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงการย้ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.ตะวันออก) วิทยาเขตอุเทนถวาย ออกจากพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อุเทนถวาย

โดยล่าสุดเช้านี้ ที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย กลุ่มนักศึกษาศิษย์ปัจจุบันตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก กว่า 100 คนนัดรวมตัวกัน คัดค้านการย้ายออกจากพื้นที่ พร้อมอ่านแถลงการณ์ขอความเห็นใจไปยัง นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) พร้อมนำป้ายไวนิลแสดงออกถึงการคัดค้าน ด้านบนฟุตปาทหน้าสถาบันดังกล่าว

ปมความขัดแย้ง

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ได้เจรจาตกลงเรื่องการขอคืนพื้นที่อุเทนถวาย ที่ตั้งอยู่ย่านพญาไท เพราะว่าจุฬาฯ ต้องการนำพื้นที่ดังกล่าวมาใช้เป็นพื้นที่การศึกษา

ทางด้านนักศึกษาอุเทนถวาย รวมถึงศิษย์เก่า ออกมาเรียกร้องขอใช้พื้นที่นี้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถาบันผลิตบุคคลที่มีคุณภาพสายช่างมาอย่างยาวนานเกือบ 80 ปี ที่ตรงนี้เปรียบเสมือนบ้าน ไม่อยากย้ายไปไหน มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน อีกทั้งการที่มหาวิทยาลัยมีปัญหาข้อพิพาทนี้ ก็ยังส่งผลให้ถูกตัดงบประมาณการพัฒนาการศึกษา

ซึ่งมองว่าการที่อุเทนถวายมีข่าวไม่ดีออกไปหลาย ๆ ครั้ง ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ไม่ได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาการศึกษา ทำให้คุณภาพของการศึกษาลดน้อยลง ทั้งที่การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ

อุเทนถวาย

สำหรับปัญหาที่ดินระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอุเทนถวาย มีมาอย่างยาวนาน สืบเนื่องจากแผนแม่บทจัดการที่ดิน 1,153 ไร่ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ดำเนินการขอคืนพื้นที่อุเทนถวาย จำนวน 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ที่อุเทนถวายทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 68 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2478-2546 เพื่อขยายเขตพื้นที่การศึกษาตามโครงการพัฒนา

ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้เจรจาขอคืนที่ดินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 แต่ไม่เป็นผล

โดยจุฬาฯ ได้ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ กรมธนารักษ์ ขอความอนุเคราะห์จัดหาพื้นที่ให้อุเทนถวาย ในปี พ.ศ. 2545 กรมธนารักษ์จัดหาพื้นที่ให้จำนวน 36 ไร่ ที่ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ครม.จัดสรรงบฯให้เพื่อการก่อสร้างและขนย้ายประมาณ 200 ล้านบาท

อุเทนถวายได้ทำบันทึกข้อตกลงกับจุฬาฯ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 จะขนย้าย และส่งมอบพื้นที่คืนให้จุฬาฯ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2548 หากจำเป็นก็จะผ่อนผันให้ไม่เกิน 1 ปี

ต่อมาในปี 2548 ได้ทำบันทึกข้อตกลง ว่า อุเทนถวายจะย้ายไปก่อสร้างสถาบันใหม่ที่ ต.บางพลี อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พร้อมย้ายบุคลากร และนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 แต่การย้ายยังติดขัดปัญหาและเป็นไปอย่างล่าช้า ต่อมาปี 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการ

อุเทนถวาย

และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติ ข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี (กยพ.) สโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกา 2 ครั้ง

ในปี 2552 กยพ.มีมติชี้ขาดให้อุเทนถวายขนย้ายทรัพย์สิน และคืนพื้นที่ให้จุฬาฯ และชำระค่าเสียหายปีล้านบาทเศษ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่สำเร็จ ทางด้านผลการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ. และทางจุฬาฯ ไม่ได้ทวงเงินค่าเสียหายจากอุเทนถวายแต่อย่างใด

ต่อมาในเดือนธันวาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้อุเทนถวายย้ายออกจากพื้นที่ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง

อธิการฯยันไม่ย้าย ยก “อุเทนฯ” เทียบมรดกโลก

ที่มหาวิทยาลัยเทคโลยีราชมงคล(มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน รวมตัวคัดค้านการย้าย มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ออกจากพื้นที่เดิม หลังศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกำหนดให้ย้ายออก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

โดยมีการเปิดตั้งโต๊ะให้ลงชื่อคัดค้าน และร่วมสนับสนุนผลักดันให้เกิดการทบทวนหาแนวทางพัฒนาพื้นที่ดั้งเดิมของ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ให้ยังคงเป็นสถานศึกษาภายใต้ชื่อ อุเทนถวาย สืบต่อไป แทนการย้ายสถานศึกษาไปยังที่ตั้งใหม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 100 นายตรึงกำลัง รักษาความปลอดภัย

จากนั้น เวลา 13.00 น. รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ อธิการบดีมทร.ตะวันออก เดินทางมาร่วมประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ การย้ายออกจากพื้นที่เดิม โดยมีผู้บริหารอุเทนฯ นายทักษิต เรียบร้อย นายกสโมสรนักศึกษา พร้อมด้วยนักศึกษา จากวิทยาเขตอุเทนถวาย กว่า 150 คน ยืนเรียงแถวบริเวณทางเข้า ตลอดสองข้างทางให้การต้อนรับ พร้อมมอบดอกไม้แสดงความขอบคุณที่มาร่วมรับฟังคำชี้แจง

จากนั้นเวลา 15.30 น. รศ.ดร.ฤกษ์ชัย แถลงข่าวภายหลังหารือผู้บริหาร ศิษย์เก่า และศิษย์ ปัจจุบัน ว่า เป็นการมาพูดคุย ปรับความเข้าใจ โดยงานนี้น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี นัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เจ้ากระทรวงเป็นแกนหลักในการเปิดโต๊ะเจรจา ทั้งนี้การพูดคุยมีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่นักศึกษาไม่สบายใจ กระทบกับการเรียน การทำงานของบุคคลากร

ซึ่งทางมหาวิทยาลัยยืนยันว่า จะต้องมีการดูแลให้เรียบร้อย ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีว่าการอว. ลงมาดูแลด้วยตัวเอง โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนนักศึกษา ศิษย์เก่า และบุคลากร ร่วมเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการอว. ให้ความสำคัญกับอุเทนถวาย เพราะ อยู่คู่สังคมมากว่า 90 ปี

“รัฐมนตรีว่าการอว.ไม่ได้พูดถึงเรื่องย้าย แต่พูดถึงการขยายและยกระดับอุเทนฯ เป็นสถานบันเชื่อว่าจะมีทางออกที่ทุกคนสบายใจ โดยรัฐมนตรีว่าการอว. จะตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการตรงนี้ แต่ยังไม่เริ่มต้นว่าจะเดินทางไหน ส่วนคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ทางรัฐมนตรีว่าการอว.มองไกลกว่านั้น เพราะไม่เหมือนกับการย้ายบ้าน ไม่อยากให้ฟันธง แต่วันนี้เรามาคุยกันเรื่องอุเทนฯ เป็นสมบัติของชาติ นักศึกษาปัจจุบันจะได้เรียนจนจบการศึกษา เชื่อว่าทุกอย่างจะมีทางออก และไม่ได้บอกว่าจะย้าย แต่เป็นการขยาย ผมเป็นอธิการบดีมา6 เดือน ทราบว่ามีปัญหาตรงส่วนนี้ ก็พร้อมรับฟัง”

“และขณะนี้ยังมีการรับนักศึกษาเข้าเรียนตามปกติ รัฐมนตรีว่าการอว.พูดไว้เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญว่าอุเทนฯ ดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี ส่วนจะอยู่ต่อ อยู่รวมกันหรือขยายอย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งยังไม่มีความชัดเจน เรื่องนี้ต้องมองหลายมิติ ทั้งด้านการศึกษา และมิติด้านสังคม อุเทนฯ มีประวัติมายาวนาน เป็นเรื่องมรดกวัฒนธรรม เป็นซอฟต์เพาเวอร์ และเป็นมรดกโลกในอนาคต “ อธิการบดีมทร. ตะวันออกกล่าว

รศ.ดร.ฤกษ์ชัย กล่าวต่อว่า ยืนยันว่า อุเทนฯ มีความสำคัญในตัวเองอยู่แล้ว ส่วนแนวทางดำเนินการจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องรอผลการหารือกับคณะหรรมการฯ ส่วนเรื่องกรอบเวลาว่าจะต้องสรุปให้แล้วเสร็จเมื่อไรนั้นคงบอกไม่ได้ เพราะเรื่องนี้มีหลายมิติ กับจุฬาฯ ก็พี่น้องกันพูดคุยกันได้

“ส่วนการร่วมตัวของนักศึกษานั้น เราเป็นประชาธิปไตยการแสดงออกโดนสันติ น่าจะสามารถทำได้ และอะไรที่ไม่เข้าใจผมเชื่อว่าอุเทนฯ เป็นลูกผู้ชายพอ เรื่องความขัดแย้งไม่น่ามี ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของข้อมูลที่ไม่ชัดเจน แต่วันนี้รัฐมนตรีว่าการอว. ทำให้มีความชัดเจนแล้ว “ อธิการบดีมทร.ตะวันออกก่าว

นายทักษิต เรียบร้อย นายกสโมสรนักศึกษา กล่าวว่า ได้แจ้งอธิการบดีฯ ยืนยันจะไม่ย้าย และจะตั้งทีมเพื่อประชุมรวมกับรัฐมนตรีว่าการอว. รวมทั้งจะรวบรวมรายชื่อศิษย์เก่า กว่า 50,000 รายชื่อเพื่อยกร่างพ.ร.บ.ของตัวเองเช่นเดียวกับที่จุฬาฯดำเนินการมาแล้ว

นายเดชา เดชะตุงคะ อุปนายกสมาคมนักศึกษาเก่าอุเทนฯ กล่าวว่า ยืนยันว่าเราจะอยู่ที่นี่ไม่ย้าย 2 สถาบัน อุเทนฯ จุฬาฯ อยู่รั้วติดกันมากว่า 93 ปี แล้วทำไมต้องมีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะมีการใช้อำนาจพิเศษ ในสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม ดึง2 สถาบันมาเป็นโฉนดเดียวกัน ทั้งที่ ร.6 ให้ใช้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่การศึกษา ไม่ใช่พื้นที่เชิงพานิช โดยตนเสนอที่ประชุมว่า ควรมีการทำประชามติ ในระบบประชาธิปไตยผ่านกระบวนการรัฐสภาฯ ยืนยันว่าอุเทนฯ ยังคงอยู่ตรงนี้คู่สังคมไทย ไม่ย้ายไปไหนแน่นอน

นักศึกษาอุเทนฯ จะต้องได้เรียนและจบที่นี่โดยมีพี่ๆ ศิษย์เก่าคอยดูแล ดังนั้นทุกคนไม่ต้องกังวล ส่วนการขยาย นั้น เป็นเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีการขยายไปรังสิต แต่ที่ตั้งเดิม อุเทนฯ ยังต้องอยู่ตรงนี้ไม่ไปไหน