ศูนย์จีโนมมหิดล เสนอวิธีตรวจสอบการเกิดลิ่มเลือดจากวัคซีนโควิด

วัคซีนโควิด

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งคำถาม เหตุลิ่มเลือดอุดตันเกิดจากวัคซีนโควิดหรือไม่ พร้อมเสนอวิธีตรวจสอบการเกิดลิ่มเลือดจากวัคซีนโควิดในประเทศไทย

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ก CMGrama ถึงกรณีการเกิดลิ่มเลือดจากวัคซีนโควิด โดยตั้งคำถามว่า การพบลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดของศพมีสาเหตุมาจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่

โดยหยิบยกแง่มุมต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาสำหรับเหตุการณ์การพบลิ่มเลือดดังกล่าว ไม่ว่าความน่าเชื่อถือแหล่งข้อมูล คลิปวิดีโอต่าง ๆ พร้อมข้อมูลโต้แย้งจากหลายแหล่งอ้างอิง รวมถึงแนะแนวทางตรวจสอบว่าในประเทศไทย พบการเกิดลิ่มเลือดในลักษณะนี้หรือไม่

ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ของผู้ฉีดยารักษาศพและผู้อำนวยการงานศพ

หนึ่งในจุดเริ่มต้นของกระแสการพบลิ่มเลือดนี้ มาจากคลิปวิดีโอ Died Suddenly 2022 ซึ่งนำเสนอในแนวทางว่าผู้ฉีดยารักษาศพและผู้อำนวยการงานศพจำนวนหนึ่งพบลิ่มเลือดขนาดใหญ่ในศพ และคาดว่าเกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ในจุดนี้ศูนย์จีโนมระบุว่า สมาคมผู้อำนวยการงานศพแห่งชาติของสหรัฐ เน้นย้ำว่าผู้เชี่ยวชาญด้านงานศพและฉีดยารักษาศพไม่มีคุณสมบัติที่จะสรุปผลเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิดและลิ่มเลือด

Advertisment

อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้หักล้างคำกล่าวอ้างเหล่านี้ โดยระบุว่าลิ่มเลือดดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นลิ่มเลือดที่พบบ่อยหลังการชันสูตรพลิกศพ

นอกจากนี้วิดีโอดังกล่าวยังรวมถึงฟุตเทจที่นำมาจากวิดีโอการศึกษาทางการแพทย์ที่โพสต์บน YouTube ในเดือนเมษายน 2019 ซึ่งแสดงให้เห็นขั้นตอนที่เรียกว่าการผ่าตัดเอาหลอดเลือดอุดตันในปอด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่อย่างใดอีกด้วย

ผลตรวจสอบขององค์กรตรวจสอบอิสระ พบเป็นข่าวเท็จ

ขณะเดียวกัน วิดีโอการพบลิ่มเลือดนี้ยังถูกตรวจสอบจากองค์กรอิสระด้านต่อต้านข่าวปลอม ก่อนจะมีผลสรุปออกมาว่าเป็นข่าวปลอม

ศูนย์จีโนมระบุว่า FactCheck ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและไม่แสวงหากำไร มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดระดับหรือผลกระทบของการหลอกลวงและการสร้างความสับสนทางการเมืองในสหรัฐ ตรวจสอบคลิปวิดีโอดังกล่าวแล้วพบว่า เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (fake news)

Advertisment

อย่างไรก็ตาม นายทหารสหรัฐนอกราชการ Thomas Haviland ได้นำเสนอข้อมูลลักษณะดังกล่าวอีกครั้ง โดยการจัดทำโพลที่ไม่แสดงแหล่งอ้างอิง สอบถามไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการฉีดยารักษาศพ และส่งข้อมูลที่สรุปได้ไปยังหน่วยงานด้านสาธารณสุขในสหรัฐ กล่าวคือ US NIH, US CDC ให้พิจารณาถึงความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมทั้งให้สัมภาษณ์ในรายการของ Dr.John Cambell อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังของอังกฤษในด้านสุขภาพ

เสนอวิธีตรวจสอบในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ศูนย์จีโนมยังเสนอวิธีตรวจสอบการเกิดลิ่มเลือดขนาดใหญ่ในหลอดเลือดจากศพในไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ด้วยการทำโพลสอบถามผู้ที่มีหน้าที่ฉีดยารักษาศพ โดยอาจพิจารณาสอบถามว่า ก่อนปี 2019/2562 พบลิ่มเลือดในหลอดเลือดของศพหรือไม่ (ยังไม่เกิดการระบาดของโควิด-19) ปี 2020/2563 พบลิ่มเลือดในหลอดเลือดของศพหรือไม่ (ไวรัสอู่ฮั่นและไวรัสอัลฟาระบาด ยังไม่มีวัคซีนใช้) ปี 2021-2022/2564-2565 พบลิ่มเลือดในหลอดเลือดของศพหรือไม่ (มีการระดมวัคซีนโควิด-19 มีผู้เข้ารับการฉีดถึง 80%) และปี 2023/2024 พบลิ่มเลือดในหลอดเลือดของศพหรือไม่ (มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดลง) หากพบมีมากหรือน้อยเมื่อเทียบกับปี 2021-2022