กรมอุทยานฯถอดบทเรียนถ้ำหลวง สั่งจนท.ตื่นตัว-ดูแลนักท่องเที่ยว คุมเข้มจุดเข้าออกถ้ำ 24 ชม.

อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จัดประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนถ้ำหลวง-เรือล่มภูเก็ต แนะให้จนท.อุทยานติดตามพยากรณ์อากาศกรมอุตุนิยมเป็นประจำ เบื้องต้นวางมาตรการให้ลงทะเบียนคนเข้า-ออกถ้ำ และจุดยาม 24 ชม.

วันที่ 19 กรกฎาคม 2561 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “แนวทางการปฏิบัติมาตรการในการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ : บทเรียนจากกรณีถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน และการท่องเที่ยวทางทะเล” ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 สหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ จำกัด โดย ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวถึงวัตถุประสงค์การประชุมว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์ทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย และเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่ จ.ภูเก็ต มีมติให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดให้คำแนะนำการปฏิบัติดูแลนักท่องเที่ยว จึงให้มีจัดประชุมในวันนี้

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดการประชุมและให้นโยบายการพัฒนาถ้ำในอุทยานแห่งชาติและวนอุทยาน และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทางทะเล ว่า ตนรู้สึกยินดีที่ท้ายที่สุดสามารถช่วยเหลือทีมหมูป่า และขอแสดงความเสียใจการการเสียชีวิตของ จ.อ.สมาน กุนัน หรือ จ่าแซม ซึ่งต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นนาวาตรีสมาน กุนัน

ทั้งนี้ขอเน้นย้ำถึงเจ้าหน้าที่อุทยานและวนอุทยานว่าให้กวดขันการปฏิบัติหน้าที่ให้ดี มีนโยบายใดที่ทำได้ให้เร่งดำเนินการทันที ส่วนเรื่องใดที่ไม่สามารถทำได้ให้รายงานแทน นอกจากนี้ แนะนำให้เจ้าหน้าที่อุทยานทุกคนติดตามพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นประจำ เนื่องจากสภาพอากาศในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

“เรื่องถ้ำปิด-เปิด สถานการณ์ลมฟ้าอากาศมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่หัวหน้าอุทยานต้องทำ ถ้าน้ำท่วมมาท่านต้องปิดถ้ำเลย ต้องตื่นตัวตลอด อุทยานบางแห่งปิดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงแม้จะไม่ 100% แต่เชื่อว่า 80%” นายธัญญากล่าว และต่อว่าการประชุมครั้งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะเปรียบเสมือน วัวหายล้อมคอก แต่เจ้าหน้าที่ไม่ควรหย่อนยานหรือปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ ควรมีการติดตามและปฏิบัติตามนโยบายที่เคยให้ไปอยู่แล้ว

เบื้องต้น อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้มาตรการในการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในถ้ำ ได้แก่ หนึ่ง ให้มีการลงทะเบียนเข้าออกถ้ำ เพื่อตรวจสอบว่ามีนักท่องเที่ยวติดค้างอยู่ในถ้ำหรือไม่ สอง ให้จัดจุดป้อมยามและมีเวรยามอยู่ตลอดเวลา หรือหากถ้ำใดเป็นปากถ้ำเปิด ไม่สามารถปิดได้ ควรพิจารณาจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาการณ์อยู่ 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก

“ผมไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีก ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเหตุการณ์ครั้งนี้ก็จะเป็นบทเรียนให้แก่คนไทยและเจ้าหน้าที่ทุกคน” นายธัญญากล่าว