กรมชลประทานรับมือบุรีรัมย์แล้ง ทุกอ่างมีมติไม่ปลูกพืชหน้าแล้ง เว้นข้าวโพด

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ทางจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภาวะฝนแล้ง) ใน 14 อำเภอ คือ อ.ประโคนชัย อ.เมือง อ.นาโพธิ์ อ.สตึก อ.หนองหงส์ อ.นางรอง อ.กระสัง อ.หนองกี่ อ.แคนดง อ.ชำนิ อ.พุทไธสง อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ อ.ลำปลายมาศ และ อ.คูเมือง พื้นที่นาข้าวฤดูฝน เสียหายตามข่าว 480,728 ไร่ แต่จากการตรวจสอบแล้วมีพื้นที่เสียหายเพียง 280,192 ไร่ ที่อยู่ในข่ายได้รับค่าชดเชยตามระเบียบ โดยเป็นนาข้าวในเขตชลประทาน 3,071 ไร่ สาเหตุเนื่องมาจากในปี 2561 จังหวัดบุรีรัมย์ มีฝนตกสะสม เพียง 800 มิลลิเมตร จากฝนเฉลี่ย 1,200 ม.ม. ส่งผลให้เกิดภาวะแล้งกระจายตัวเกือบทั้งจังหวัด ทำให้อ่างเก็บน้ำลำนางรอง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำเพียง 40.266 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ จำนวน 7 อ่าง อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำระหว่างร้อยละ 30 – 50 ของความจุอ่างฯ มีจำนวน 3 แห่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 50 – 80 จำนวน 3 แห่งและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 อีก 2 แห่ง

ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ชลประทาน จากการตรวจสอบพบว่า มีการเพาะปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทานรวมเป็นพื้นที่ 228,256 ไร่ เกิดความเสียหายจากภาวะฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือน ต.ค.- พ.ย. 61 จำนวน 3,071 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.34 ของพื้นที่นาข้าวในเขตชลประทาน ซึ่งอยู่ในเขต 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองบุรีรัมย์ 577 ไร่ อ.นาโพธิ์ ประตูระบายน้ำลำพังชู 1,800 ไร่ , อ.นางรอง 30 ไร่ , อ.แคนดง 609 ไร่ และ อ.ลำปลายมาศ 55 ไร่ โดยที่ผ่านมาโครงการชลประทานบุรีรัมย์ ได้ให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำข้างเคียงทุกจุด รวมทั้งขอรับการสนับสนุนการทำฝนหลวงไปยังกรมฝนหลวงและการบินเกษตรแล้วแต่เนื่องจากภาวะฝนแล้งยาวนานมาก ทำให้พื้นที่บางส่วนไม่มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะให้การช่วยเหลือได้

ในส่วนของการเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ โครงการชลประทานบุรีรัมย์ ได้จัดประชุมคณะกรรมการจัดการน้ำ(JMC)ทุกอ่างเก็บน้ำแล้ว พร้อมแจ้งสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้กลุ่มผู้ใช้น้ำทราบอย่างทั่วถึง ซึ่งอ่างเก็บน้ำทุกแห่งมีมติไม่ปลูกพืชฤดูแล้ง เนื่องจากสภาพน้ำต้นทุนที่มีจำกัด จำเป็นต้องจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค คงไว้เฉพาะการปลูกข้าวโพดหลังฤดูการทำนาปีในเขตชลประทาน ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 637.75 ไร่ เท่านั้น

 

 

Advertisment

 

ที่มา มติชนออนไลน์