“ผู้พิทักษ์สิทธิ์” คืออะไร เปิดขั้นตอนตรวจสอบสิทธิ์ “เราไม่ทิ้งกัน”

ทำความรู้จัก “ผู้พิทักษ์สิทธิ์” หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากประชาชน ที่ขอทบทวนสิทธิ์ “เราไม่ทิ้งกัน” เพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท

มาตรการรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน ที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือประชาชนที่เป็น ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ นอกระบบประกันสังคม จากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยการให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com ไว้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม – 22 เมษายน 2563 ซึ่งมีตัวเลขผู้ลงทะเบียนกว่า 28.8 ล้านราย

ยังมีผู้ลงทะเบียนจำนวน 1.8 ล้านราย ที่ยื่นขอทบทวนสิทธิ์ยังต้องรอลุ้น การตรวจคุณสมบัติโดย “ผู้พิทักษ์สิทธิ์” ซึ่งจะต้องจบกระบวนการภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2563

ผู้พิทักษ์สิทธิ์ คือใคร อยู่ที่ไหน ?

  • ผู้พิทักษ์สิทธิ์ คือ เจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังปฏิบัติหน้าที่เก็บข้อมูล/หลักฐานการประกอบอาชีพ จากประชาชนผู้ขอยื่นทบทวนสิทธิตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ
  • ผู้พิทักษ์สิทธิ์ ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินผลการพิจารณา โดยเพียงทำการส่งข้อมูลเข้ากระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาตามคุณสมบัติของมาตรการฯ ต่อไป
  • ผู้พิทักษ์สิทธิ์ จะติดต่อเพื่อขอเข้าพบผู้ยื่นขอทบทวนสิทธิ ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง ประชาชนที่ขอทบทวนสิทธิ์ ไม่จำเป็นต้องออกตามหาผู้พิทักษ์สิทธิ์
  • ผู้พิทักษ์สิทธิ์ จะไม่มีการเรียกรับเงินหรือรับสิ่งของอื่นใดเพื่อประโยชน์ในกระบวนการพิจารณาทบทวนสิทธิของผู้ลงทะเบียนตามมาตรการฯ
  • ผู้ยื่นขอทบทวนสิทธิ สามารถเข้าไปตรวจสอบผลการพิจารณาได้ที่ปุ่มตรวจสอบสถานะ

3 ขั้นตอนตรวจสอบข้อมูล

1. ถ่ายรูปบัตประชาชน ของผู้ทบทวนสิทธิ์
2. ถ่ายรูปใบหน้า ของผู้ทบทวนสิทธิ์
3. ตรวจสอบและถ่ายรูปหลักฐาน ผู้ประกอบอาชีพของผู้ทบทวนสิทธิ์

หลักฐานที่ใช้ในการตรวจสอบข้อมูล

  • ภาพหลักฐานการประกอบอาชีพ เช่น สถานที่ทำงาน หน้าร้าน รถที่ขับ สินค้าที่ขาย อุปกรณ์ประกอบอาชีพ
  • ใบอนุญาตการประกอบอาชีพ เช่น ใบประกอบวิชาชีพ ใบขับขี่สาธารณะ ทะเบียนการค้า ใบอนุญาตให้ประกอบการตามอาชีพ ออกโดยหน่วยงานของรัฐ
  • เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ เช่น สัญญาเช่าร้าน หลักฐานการรับเงิน ที่พักอาศัยปัจจุบัน (กรณีไม่มีหน้าร้าน) หลักฐานทาง social media เอกสารการรับงานหรือดูแลลูกค้าตามการว่าจ้าง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ หลังจากวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 โครงการมาตรการเยียวยาได้ปิดลง กระทรวงการคลังจะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลกลุ่มที่ตกหล่น กลุ่มชายขอบ กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ คนไร้บ้าน และกลุ่มที่ลงทะเบียนมาตรการเยียวยา 5,000 บาท จำนวนประมาณ 1 ล้านราย เพื่อพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือเป็นลำดับต่อไป ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ เพราะรัฐบาลมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว

ู้พิทักษ์สิทธิ์ ที่ไหน