เพิ่มมาตรการเข้มฝุ่นพิษก่อสร้าง เจ้าของตึก “ฝ่าฝืน” สั่งปิดไซต์ทันที

กทม.เข้มมาตรการฝุ่น

เจ้าของอาคาร-ผู้รับเหมา ร้องจ๊าก ! กรมโยธาฯคลอดกฎเหล็กคุมโครงการก่อสร้างทั่วประเทศ ต้องส่งแบบแปลน พร้อมลายเซ็นวิศวกรรับรอง เพิ่มมาตรการคุมเข้มฝุ่นละอองทุกเดือน กั้นล้อมอาคาร ขนย้ายวัสดุ ฉีดล้างล้อรถ ตรวจสอบติดตั้ง การรับน้ำหนัก นั่งร้านและเครนยักษ์ พบฝ่าฝืนสั่งปิดไซต์ทันที เริ่มบังคับใช้ 16 ม.ค. 64 กทม.ร่อนหนังสือแจ้งเตือนเจ้าของตึก ผู้ดำเนินการ ยื่นเอกสารตามกฎหมายใหม่

แหล่งข่าวกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 กรมได้ออกประกาศราชกิจจานุเบกษา กฎกระทรวงฉบับที่ 67 พ.ศ. 2563 ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และแก้ไขเพิ่มเติมในกฎกระทรวงฉบับที่ 4 พ.ศ. 2526 ซึ่งไม่ได้กำหนดมาตรการป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นจาการก่อสร้างอาคารไว้ โดยในกฎกระทรวงใหม่นี้จะกำหนดรายละเอียดชัดเจนและมีความทันสมัยขึ้น เรื่องวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในไซต์ก่อสร้าง รวมถึงการตรวจสอบความแข็ง และความปลอดภัยของนั่งร้านและค้ำยัน ปั้นจั่นหอสูง และเดอริกเครน ในระหว่างการก่อสร้างอาคารให้เหมาะสมและปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายบังคับและเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง

เริ่มบังคับ 16 ม.ค. 64

“กฎกระทรวงนี้เป็นการคุมมาตรฐานการก่อสร้าง คงไม่กระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ เพราะปกติมีการดำเนินการอยู่แล้ว เพราะมีทั้งกฎหมายสิ่งแวดล้อมควบคุมการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ แต่ครั้งนี้จะให้อำนาจท้องถิ่นสามารถตรวจสอบอาคารก่อสร้างมีความสูงตั้งแต่ 10 เมตร หรือ 3 ชั้นขึ้นไป จะต้องทำตามที่กฎหมายกำหนด หากพบว่าทำผิดจะสั่งหยุดการก่อสร้างได้ทันที และดำเนินการบทลงโทษตามที่กฎหมายระบุ จะมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศภายใน 60 วัน นับจากวันประกาศราชกิจจาฯ หรือตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 2564”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดของกฎกระทรวง ในระหว่างการก่อสร้างอาคารมีความสูงตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ที่มีระยะราบวัดจากแนวอาคารด้านนอกถึงสาธารณะ หรือที่ดินต่างเจ้าของหรือผู้ครอบครองน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของความสูงของอาคารนั้น หรืออาคารซึ่งอยู่ในโครงการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันฝุ่นละออง

เพิ่มมาตรการคุมฝุ่นละออง

ประกอบด้วย 1.กั้นล้อมอาคารด้วยวัสดุหรืออุปกรณ์ที่สามารถป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้าง 2.กองวัสดุที่มีฝุ่นละอองต้องปิดหรือคุมด้วยวัสดุหรืออุปกรณ์ที่ป้องกันฝุ่นกระจายหรือเก็บในพื้นที่ปิดล้อมหรือฉีดพรมด้วยน้ำหรือวิธีการอื่นที่ป้องกันการฟุ้งกระจาย

3.การขนย้ายวัสดุที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองด้วยสายพานต้องปิดให้มิดชิด 4.การผสมคอนกรีต การไสไม้ การกระทำใด ๆ ที่ก่อเกิดฝุ่นละออง ต้องทำในพื้นที่ปิดล้อมหรือมีผ้าคลุมหรือใช้วิธีการป้องกันการฟุ้งกระจาย 5.มีการจัดการวัสดุที่เหลือใช้ 6.ฉีดล้างล้อรถทุกชนิดด้วยน้ำก่อนนำออกนอกบริเวณสถานที่ก่อสร้างเพื่อมิให้ฝุ่นฟุ้งและไม่ให้น้ำที่ใช้ในการฉีดล้างไหลออกนอกบริเวณสถานที่ก่อสร้าง

เช็กนั่งร้าน-เครนทุกเดือน

“ยังให้ผู้ดำเนินการต้องตรวจสอบความแข็งแรงและความปลอดภัยของนั่งร้านและค้ำยันที่สร้างขึ้นเป็นประจำ โดยบันทึกผลการตรวจสอบและลงลายมือชื่อไว้ทุกเดือน เก็บไว้ที่สถานที่ก่อสร้าง เพื่อให้นายช่างหรือนายตรวจดูได้”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การสร้างนั่งร้านและค้ำยันต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ได้แก่ นั่งร้านและค้ำยันที่ใช้รับน้ำหนักส่วนต่าง ๆ ของอาคารตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป ต้องมีความสูงนั่งร้านและค้ำยัน 4 เมตรขึ้นไป สำหรับใช้ก่อสร้างอาคารประเภทที่ใช้พื้นไร้คาน ผู้ดำเนินการต้องยื่นแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณของนั่งร้านและค้ำยันโดยผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรรมต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อเป็นหลักฐานก่อน จึงจะสร้างได้ และการติดตั้งต้องเป็นไปตามคู่มือของผู้ผลิตและมีการตรวจสอบตลอดการใช้งาน โดยนั่งร้านและค้ำยันที่สร้างด้วยโลหะ ฐานรองรับจะต้องรับน้ำหนักไม่น้อยกว่า 2 เท่า และไม่น้อยกว่า 4 เท่าสำหรับนั่งร้านและค้ำยันที่สร้างด้วยไม้

ยังเพิ่มการตรวจสอบความแข็งแรงและความปลอดภัยของปั้นจั่นหอสูงและเดอริกเครน ที่ใช้สอยเป็นประจำตามคู่มือของผู้ผลิต และโดยผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม โดยบันทึกผลการตรวจสอบและลงลายมือชื่อไว้ทุกเดือน ซึ่งการติดตั้งต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ได้แก่ ยื่นแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณฐานรองรับรวมถึงการยึดโยง ให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่จัดทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม รวมถึงเป็นไปตามคู่มือของผู้ผลิต

กทม.แจ้งเตือนเจ้าของตึก

แหล่งข่าวจากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า เร็ว ๆ นี้ กทม.จะทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังเจ้าของอาคารและผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการในพื้นที่ กทม.ให้รับทราบถึงข้อบังคับกฎกระทรวงฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้วันที่ 16 ม.ค. 2564 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในเรื่องของรายละเอียดและเอกสารที่จะต้องยื่นให้ กทม.พิจารณาว่าครบถ้วนหรือไม่ก่อนจะเริ่มก่อสร้าง และ กทม.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง หากพบว่าทำไม่ครบหรือฝ่าฝืนจะสั่งหยุดไซต์ก่อสร้างทันที จนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง

ทั้งนี้ จากสถิติการขอใบอนุญาตก่อสร้างที่ยื่นกับสำนักการโยธา กทม. มีประมาณ 400 กว่าอาคาร ยังไม่รวมอาคารขนาเล็ก หรือบ้านที่ยื่นขอกับสำนักงานเขตอีก

“ปัจจุบัน กทม.ตรวจสอบอยู่แล้ว โดยใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และ พ.ร.บ.การก่อเหตุรำคาญ มาดำเนินการ แต่ไม่ได้กำหนดรายละเอียดควบคุมการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง การที่กรมโยธาฯออกกฎกระทรวงนี้จะทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ทำให้ควบคุมง่ายขึ้นกว่าเดิม เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะได้รู้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ” แหล่งข่าวกล่าว (หน้า 1, 9)