
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,250 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 13 – 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา เรื่อง“การปฏิรูปตำรวจไทย”
โดยเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการสังกัดหน่วยงานหรือรูปแบบสถานะที่เหมาะสมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติมากที่สุด พบว่าร้อยละ 30.32 ให้คงเดิมไม่สังกัดกระทรวงใด ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
ร้อยละ 24.48 เห็นว่า ย้ายไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม ร้อยละ 18.72 ระบุว่า ย้ายกลับไปกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 9.92 ระบุว่า ให้ไปสังกัดขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด
ด้านการแยกอำนาจสอบสวนของตำรวจมาให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบแทนพบว่า ร้อยละ 50.48 ไม่เห็นด้วย ควรให้เป็นอำนาจของตำรวจเช่นเดิม เพราะเป็นหน้าที่ ตำรวจมีความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญในงานสอบสวน และทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว อีกทั้งตำรวจมีความใกล้ชิดกับประชาชน
ร้อยละ 44.24 เห็นด้วย เพราะช่วยลดภาระงานของตำรวจ ควรมีการแบ่งงาน กระจายหรือถ่วงดุลอำนาจ ป้องกันการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่มิชอบ หรือการแทรกแซงของอำนาจมืด
ขณะเดียวกันถามถึงหลักเกณฑ์ที่ควรพิจารณาเป็นอันดับแรกในการคัดเลือกบุคลากรเข้ามารับราชการตำรวจในปัจจุบันพบว่า ประชาชนร้อยละ 31.20 ระบุว่าคือการจบจากสถาบันที่ผลิตบุคลากรตำรวจโดยตรง เช่น โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
ร้อยละ 30.72คุณธรรม จริยธรรม ร้อยละ 19.76 คะแนนสอบ ทักษะและความสามารถ ร้อยละ 6.96 ประสบการณ์ในการทำงาน
และถามถึงความเห็นต่อการนำมาตรา 44 มาช่วยในการปฏิรูปตำรวจพบว่า ร้อยละ 61.76 เห็นด้วยเพราะจะช่วยให้การปฏิรูปตำรวจรวดเร็ว มีระบบ ระเบียบ และเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ลดการทุจริตและปัญหาคอรัปชั่นได้ โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตำรวจบางคน
ร้อยละ 27.84 ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการแทรกแซงอำนาจเกินขอบเขต และใช้มาตรา 44 พร่ำเพรื่อจนเกินไป ดูเป็นการกดดัน บังคับ กึ่งเผด็จการกับตำรวจมากเกินไป