“หมอทวี” ชี้ปัจจัยเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ไม่เกี่ยวกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์

“หมอทวี” ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ย้ำไทยเลื่อนฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าออกไปก่อนได้ เนื่องจากโควิดเริ่มสงบ รอผลสอบสวนที่แน่ชัดจากฝั่งยุโรปไม่เกิน 2 สัปดาห์ ชี้ปัจจัยเกิดลิ่มเลือดอุดตัน เกี่ยวกับเชื้อชาติ- อายุ-โรคประจำตัว มั่นใจไม่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด

วันที่ 12 มีนาคม 2564 ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา 2019 ที่กระทรวงสาธารณสุข รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เปิดเผยว่า  หลังจากที่ประเทศไทยต้องเลื่อนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าให้กับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เนื่องจากพบรายงานผลข้างเคียงในประเทศฝั่งทวีปยุโรป 22 ราย เป็นเลือดแข็งตัว หรือเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำภายหลังการฉีดนั้น

กรณีที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมาย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องสอบสวนโรคให้กระจ่างชัด ทำให้ตอนนี้หลายประเทศทางแถบยุโรป รวมถึงประเทศไทย ต้องชะลอการฉีดวัคซีนตัวนี้ออกไปก่อน แต่ในขณะเดียวกันล่าสุดก็มีรายงานว่า 2 ประเทศ คือ แคนาดา และ ออสเตรเลีย ที่ยังคงมั่นใจเดินหน้าฉีดวัคซีนตัวนี้ต่อ

สำหรับโรคลิ่มเลือดอุดตัน เกิดได้ในหลายกรณี ได้แก่

1.ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุขึ้นไป อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะยิ่งมีอายุสูงขึ้น การออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย จะทำให้เลือดไหลช้า มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดได้

Advertisment

2.ขึ้นอยู่กับเผ่าพันธุ์ด้วย จะเห็นว่าเผ่าพันธุ์ฝรั่งหรือแอฟริกัน มีโอกาสเกิดมากกว่า ชาวเอเชีย ประมาณ 3-5 เท่า

3.อาจเกี่ยวกับโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน เพราะว่าเบาหวานจะทำให้เส้นเลือดมีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น เส้นเลือดก็คล้ายกับท่อระบายน้ำ ถ้าเลือดไหลไม่คล่อง ก็มีโอกาสเป็นลิ่มเลือดจับได้ หรือแม้แต่โรคหัวใจ ความดัน มะเร็ง แล้วก็โรคติดเชื้อต่างๆ หรือในหญิงตั้งครรภ์ก็มีโอกาสเป็น

เพราะฉะนั้นคำถามคือ พบบ่อยไหมในทางการแพทย์ ต้องบอกว่ามักพบในผู้สูงอายุ แต่จะพบน้อยมากในแถบเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทย วันนี้มีโอกาสถามแพทย์หลายท่านบอกว่าบ้านเราเจอน้อยจึงขอให้สบายใจได้

และเมื่อดูค่าเฉลี่ยของอาการไม่พึงประสงค์ กรณีเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ในผู้รับการฉีดวัคซีนทั้ง 22 รายในแถบประเทศยุโรป จากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าไปแล้วราว 3 ล้านโดส พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3 รายต่อ 1 ล้านโดสต่อ1เดือน แต่โดยปกติโรคลิ่มเลือดอุดตันในแถบยุโรป จะพบป่วยด้วยโรคนี้มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 พันรายต่อล้านคนต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะพบว่าการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ที่มีสาเหตุมาจากการฉีดวัคซีน มีอัตราเกิดขึ้นต่ำกว่าอัตราป่วยปกติกว่า 10 เท่าตัว

Advertisment

ทั้งนี้ จึงยังต้องรอการสอบสวนโรคจากฝั่งยุโรปให้เกิดความกระจ่างชัดก่อน คาดว่าผลของ 22 รายอออกมาน่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากยิ่งมีโอกาสเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตัน แต่ที่น่ากังวลคือถ้ามีการรายงานว่าเป็นคนหนุ่มสาวอันนี้คือน่ากลัว จะต้องมีการรื้อค้นข้อมูลสอบสวนอย่างละเอียดเลยว่าเกิดอะไรขึ้น

โดยวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นหนึ่งในวัคซีนที่มีโอกาสเข้าสู่ตลาดวัคซีนเป็นอันดับหนึ่ง มีการสั่งซื้อกว่า 2-3 พันล้านโดส มีการฉีดไปแล้วมากกว่า 34 ล้านโดส ซึ่งไม่พบรายงานอะไร ส่วนประเทศไทย ควรชะลอการฉีดออกไปก่อน เพื่อความมั่นใจของทุกคน เนื่องจากสถานการณ์ในภาพรวมของไทยยังรอได้ เพราะสงบลงไปเยอะ ไม่ได้มีระบาดรุนแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา คาดประมาณ 1-2 สัปดาห์ ข้อมูลสอบสวนน่าจะออกมา

“ดังนั้น ผมขอเรียนให้ทราบว่าส่วนตัวผมเอง คงจะฉีดในวันแรกที่ไฟเขียวขึ้น เพราะว่า ผมมั่นใจมาแล้วจากการเห็นข้อมูลเชิงลึกทั้งหมดที่มีเป็นพันๆ เกือบหมื่น หน้าที่วิจัยในอาสาสมัครกว่า 30,000 คน แล้วยิ่งตอนนี้ฉีดไปแล้ว 34 ล้านโดส ในหลายๆ ประเทศ และขอให้ทุกท่านอย่ากังวล อะไรก็ตามที่สุดท้ายแล้วถ้าไม่ปลอดภัยเราไม่ให้กับประชาชนแน่นอน แต่สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าวัคซีนทุกตัวเวลาฉีดจะผลข้างเคียงทั้งนั้น แต่จะมีมากมีน้อยแตกต่างกัน”

ส่วนข้อกังวลเรื่องเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เพราะไวรัสก็เหมือนกับคนที่ต้องปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตรอด แพทย์ไทยในหลายสถาบัน มีการนำเชื้อไวรัสโควิดไปถอดรหัส พบว่ายังคงเป็นเชื้อดั้งเดิมอยู่ ซึ่งยารักษา หรือวัคซีนที่เรามีสองชนิดก็ยังใช้รักษาได้
สำหรับแอสตร้าเซนเนก้า พอจะช่วยได้ แต่ไม่100%
กรณีไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ ส่วนซิโนแวค ที่ผลิตด้วยเชื้อตาย คาดว่าจะสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ได้ดีพอสมควร แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีก