ส.นักข่าวต่างประเทศ จี้รัฐเลี่ยงความรุนแรง-คำนึงถึงสิทธิของสื่อ

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย ร้องรัฐเลี่ยงความรุนแรง-ตระหนักสิทธิการทำหน้าที่สื่อมวลชน หลังมีนักข่าวได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางของเจ้าหน้าที่บริเวณศีรษะ

วันที่ 22 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุการณ์การชุมนุมบริเวณท้องสนามหลวงของกลุ่ม “รีเด็ม” เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยนอกจากมีตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บแล้ว ยังมีสื่อมวลชนที่ไปทำหน้าที่รายงานข่าวได้รับบาดเจ็บด้วยเช่นกัน

ล่าสุด สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย หรือ FCCT ได้ออกแถลงการณ์ กรณีผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บจากใช้กระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น สมาคมฯ มีมติสนับสนุนแถลงการณ์ร่วมของ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในประเทศไทย พร้อมเรียกร้องให้ทางการไทยตระหนักถึงสิทธิการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าวในพื้นที่การชุมนุม และผู้สื่อข่าวไม่ควรตกเป็นเป้าในปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

สำหรับแถลงการณ์ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

  1. การชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ หากเป็นการการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากการยั่วยุ อาวุธและการใช้ความรุนแรง ย่อมเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย
  2. การปฏิบัติการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจควรดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนโดยก่อนการปฏิบัติการต่าง ๆ ต้องแจ้งให้ผู้ชุมนุมรวมทั้งสื่อมวลชนได้รับทราบอย่างชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ
  3. ผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ชุมนุมต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤตโดยเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียอันอาจเกิดแก่ร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน
  4. องค์กรสื่อมวลชนต้นสังกัดต้องร่วมประเมินสถานการณ์เพื่อให้การสั่งการต่อผู้สื่อข่าวและช่างภาพในพื้นที่ได้รับความปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนและเน้นย้ำให้บุคคลากรในสังกัดได้รับและใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวอยู่ตลอดเวลา

สมาคมนักข่าวต่างประเทศ

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทยขอเน้นย้ำถึงแนวทางปฏิบัติของสหประชาชาติ ว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำ (non-lethal force) ที่ระบุว่า

“การใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำเพื่อสลายการชุมนุม เป็นยุทธวิธีที่ไม่สามารถเจาะจงบุคคลได้ และควรใช้ก็ต่อเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นใด การสลายการชุมนุมด้วยวิธีดังกล่าวควรใช้ก็ต่อเมื่อเกิดความรุนแรงระดับร้ายแรง หรือเกิดความรุนแรงในวงกว้างจนกลายเป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งนี้ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายได้ใช้มาตรการอื่น ๆ ในการดูแลการชุมนุมนั้น ๆ และปกป้องผู้เข้าร่วมชุมนุมจากอันตรายอย่างสมเหตุสมผล”

แนวทางปฏิบัติดังกล่าวยังระบุด้วยว่า กระสุนยางควรเล็งไปที่บริเวณต่ำของร่างกายผู้ที่ถูกชี้ว่าเป็นภัยเสี่ยงต่อความปลอดภัยเท่านั้น และไม่ควรเล็งไปที่บริเวณศีรษะไม่ว่าในกรณีใด ๆ แต่ปรากฏว่าในคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวคนหนึ่งต้องเข้ารับการรักษาและสแกนสมองที่โรงพยาบาลหลังถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ศีรษะ

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทยขอเรียกร้องให้ทางการไทยเร่งทบทวนมาตรการควบคุมฝูงชน และใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการหลีกเลี่ยงใช้ความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนาม