ทช.เคลื่อนทัพปฏิรูป 23 จว.ชายทะเลลงพื้นที่ภาคใต้ที่แรก 15-17 พ.ย.นี้

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับคณะทำงานเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนแผนปฏิรูปเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสู่ความสําเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

วันนี้ (3 กันยายน 2560) เวลา 10.00 น. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) จัดประชุมหารือเกี่ยวกับแผนการปฏิรูปเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กับพลเรือเอก อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ประธานคณะทำงานเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะทำงานฯ ณ ห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 เขตหลักสี่ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

สำหรับคณะทำงานเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นหนึ่งใน 6 คณะทำงาน ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยทั้ง 6 คณะทำงาน ประกอบด้วย เรื่องทรัพยากรทางบก เรื่องทรัพยากรน้ำ เรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนการดำเนินการของคณะทำงานฯ ได้พิจารณาถึงแนวทางการดําเนินงาน ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยดําเนินงานเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการจัดทําแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างความรับรู้ความเข้าใจและติดตามผลการดําเนินงานตลอดระยะเวลา 5 ปีนี้

Advertisment

โดยคณะทำงานฯ จะเดินหน้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทําแผนและขั้นตอนการปฏิรูป โดยจัดลําดับความสําคัญของเรื่องเร่งด่วน ซึ่งจะนําข้อเสนอการปฏิรูปและผลการดําเนินการที่ผ่านมา ขององค์กรและคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สปช. สปท. สนช. องค์กรตุลาการ มาร่วมพิจารณาเพื่อจัดทําร่างแผนการดําเนินการปฏิรูปฯ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ และนําเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและ คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

คณะทํางานฯ กําหนดกรอบการปฏิรูปไว้ 3 กรอบการปฏิรูป ดังนี้

1.การปฏิรูประบบฐานข้อมูล ซึ่งเมื่อปฏิรูปแล้วจะทําให้ประเทศไทยมีระบบฐานข้อมูลด้านทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่งที่ครอบคลุม มีการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรฯ ที่ได้มาตรฐานและ เป็นธรรม ตลอดจนมีการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล (Marine Spatial Planning : MSP) รายจังหวัดที่ชัดเจน ซึ่งสามารถนําไปวางแผนและใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรฯ ในพื้นที่ได้อย่างมีคุณภาพ

Advertisment

2.การปฏิรูปองค์กร กฎหมาย และการมีส่วนร่วม ซึ่งจะก่อให้เกิดการปรับสมดุลโครงสร้างองค์กร ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทางทะเลให้ทันสมัยและ
สอดคล้อง กับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 และข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ที่ไทยเป็นภาคี รวมทั้งระบบการบริหารจัดการองค์ความรู้ทางทะเลที่สามารถสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

3.การปฏิรูปการดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อปฏิรูปแล้วจะทําให้มีการกําหนด แนวทางการดูแลรักษา แก้ไขปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้อย่างสมดุลและยั่งยืน อาทิ ปัญหาขยะทะเล มลพิษ แร่ธาตุและพลังงาน การประมง สัตว์ทะเล ปะการัง การกัดเซาะชายฝั่ง และการส่งเสริม ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ทั้งนี้ ได้กําหนดพื้นที่ “อ่าวไทยตอนใน” (อ่าวไทยรูปตัว ก) เป็นตัวอย่างความสําเร็จของการแบ่งเขต จังหวัดทางทะเล และ “พื้นที่อ่าวพังงา” เป็นตัวอย่างความสําเร็จของการอนุรักษ์ทรัพยากรฯ ทางทะเล ซึ่งคณะทํางานฯ จะได้ใช้เป็นแบบอย่างในการขยายผลและการดําเนินการตามกรอบการปฏิรูปข้างต้นต่อไป

และหลังจากได้ร่างแผนปฏิรูปฯ ตามกรอบการปฏิรูป ในเบื้องต้นแล้ว คณะทำงานฯ จะเริ่มลงพื้นที่เพื่อดูแบบอย่างความสําเร็จและร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนบริเวณพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ ซึ่งในวันที่ 15-17 พฤศจิกายนนี้ จะเริ่มในภาคใต้เป็นแห่งแรก โดยกําหนดจัดที่จังหวัดชุมพร ซึ่งจะเชิญหน่วยงานทุกภาคส่วน และประชาชนในพื้นจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และระนอง เพื่อรับฟังความคิดเห็น และจะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นให้ครบทั้ง 23 จังหวัดชายทะเล ซึ่งเป็นหนทางที่นําไปสู่ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยคณะทำงานฯ จะขับเคลื่อนทุกภาคส่วนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน มาสู่ทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง

สำหรับการเข้ามาหารือของคณะทำงานฯ กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการร่วมกันขับเคลื่อนแผน ปฏิรูปฯ ให้เกิดการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม